เรื่อง : วรรณวีณา ตั้งเสถียรภาพ
ภาพ : พุฒิพงศ์ พงศ์ทองเมือง
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการจัดการขยะให้เหลือศูนย์คือความร่วมมือ ขยะไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะการใส่พลังไปจัดการให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนต่อโลกใบนี้” – ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์
‘ขยะ’ คำ 2 พยางค์สั้นๆ นี้เป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริมตั้งแต่กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลต่อเนื่องมาสู่การรณรงค์เพื่อลดใช้ถุงพลาสติก ตลอดจนถึงการประกาศนโยบายการห้ามนำเข้าขยะของจีน ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลก ในหลายๆ ประเทศได้เกิดการตื่นตัวเพื่อหันกลับมาตระหนักในเรื่องนี้ สำหรับไทยเอง หนึ่งในพลังการขับเคลื่อนที่น่าสนใจได้เกิดขึ้นที่ภาคเหนือสุดของประเทศในจังหวัดเชียงราย
ใน Talk ของดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ได้กล่าวถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับขยะ การศึกษาองค์ประกอบขยะทำให้พบว่าขยะเมืองไทยแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างดอยแม่สลองได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้ว่าขยะอินทรีย์จะยังมีสัดส่วนมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้สูงแบบที่เคยเป็นสมัยก่อน เพราะมีขยะประเภทอื่นเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจซึ่งขยะเหล่านี้ ได้แก่ ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากขาดการจัดการ ขยะพวกนี้จะอยู่ในธรรมชาติไปอีกราว 400-500 ปี โดยอาจจะกลายสภาพเป็นไมโครพลาสติกที่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและร่างกายของเรา
จากสถานการณ์ในข้างต้น คำถามสำคัญอาจไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราจะจัดการขยะอย่างไร แต่เป็น “เราคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ขยะเหลือศูนย์ – 0 waste, is it possible?” ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้เชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นจริงได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติที่เกิดขึ้นที่ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2555 เมื่อสถานที่กำจัดขยะของภาคเอกชนถูกสั่งปิด ทำให้ชุมชนขาดพื้นที่รองรับในการทิ้งขยะ จึงเกิดความพยายามทดลองแก้ไขปัญหาหลายๆ วิธี จากการเก็บข้อมูลและลงพื้นที่ทำให้ดร.ปเนต พบว่าในบางพื้นที่นั้นมีขยะลดลงและไม่กลับมาเพิ่มอีกเลย ซึ่งสาเหตุการลดลงของขยะเกิดจากการหาอุปกรณ์ง่ายๆ มาจัดการขยะอินทรีย์ด้วยตัวเอง เช่น “เสวียน” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเพื่อรองรับขยะอินทรีย์
การค้นพบดังกล่าวน่าสนใจ และเป็นแนวความคิดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ดร.ปเนตจึงร่วมกับนักวิชาการอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย ริเริ่มโครงการเพื่อสร้างวัฒนธรรมสังคมปลอดขยะในเชียงรายหรือ Chiang Rai Zero Waste ขึ้นมา จาก 18 หมู่บ้านในช่วงเริ่มต้นโครงการได้ขยายผลออกไปอีกกว่า 200 หมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งดร. ปเนต กล่าวว่า การทำขยะให้เหลือศูนย์ของเชียงรายนั้นใช้พลังงาน แรงกาย และแรงใจของชุมชนเยอะมาก นั่นก็เพราะเราไม่ได้มีเงินที่จะลงทุนในเครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ต่างๆ แต่การลงมือแบบบ้านๆ อย่างมีวินัยและเป้าหมายที่ชัดเจนนี่เองที่ทำให้เกิดการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และถ้าประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับบริบทสังคม คนจะหยิบนำไปใช้และต่อยอดตามภูมิปัญญาในท้องถิ่นนั้นๆ เอง
จากการแปลง Ideas ไปสู่ Actions ที่เป็นรูปธรรมนี้ ทำให้หมู่บ้านต้นแบบสามารถลดขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้กว่า 80% ก่อให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะ ถึง 1.62 เท่า นอกจากนี้ยังได้มีการคิดต่อยอดออกไป เช่น การทำถังใส่เศษอาหารที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถังกินแกง” ซึ่งดัดแปลงมาจากอุปกรณ์กรีนโคนของฝรั่งมาใช้คู่กับเสวียนในเขตกึ่งเมืองที่ไม่ได้มีพื้นที่มากนัก เรียกได้ว่า ชุมชนได้เป็นส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างแท้จริง
“ผมอยากให้ทุกคนมีความเชื่อครับ เชื่อว่าคุณก็สามารถช่วยโลกนี้ได้ ด้วยการเลิกเรียกขยะว่าขยะ อาจจะไม่ต้องใช้กับทุกชิ้นที่คุณทิ้ง แต่เริ่มที่ชิ้นคุณรู้จักและจัดการมันง่ายที่สุด ให้คุณสัญญากับตัวเองว่าถ้าเจอของชิ้นนี้คุณจะไม่เรียกมันว่าขยะ ขอแค่ชนิดเดียวก็พอครับ อะไรก็ได้ เริ่มอย่างนี้ก่อน แต่ทำมันอย่างต่อเนื่องทุกวันครับ แล้วขยะก็จะหายไปจริงๆ” – เปรม พฤกษ์ทยานนท์
จากหมู่บ้านในจังหวัดเชียงรายเดินทางกลับมาสู่วิถีชีวิตคนเมือง ซึ่งมีบริบททางสังคมที่แตกต่างออกไป ใน Talk ของคุณเปรม พฤกษ์ทยานนท์ นั้นได้ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมของคนเมืองที่ทิ้งขยะโดยไม่มีการแยกของดีออกจากของเสียว่า อาจจะเกิดจากสาเหตุ 4 ประการ นั่นคือ ไม่รู้คุณค่า ไม่เห็นปัญหา ไม่รู้วิธีการ และไม่สนใจ ซึ่งหากไม่นับสาเหตุประการสุดท้าย (ไม่สนใจ) สาเหตุที่เหลือสามข้อ เขาน่าจะให้คำตอบได้ การคลุกคลีในวงการขยะตั้งแต่เด็ก ประกอบกับความสนใจที่จะแก้ปัญหาขยะได้นำคุณเปรมไปสู่การเปิดเพจที่ชื่อว่า “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” โดยคอยให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับการแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อลดปริมาณขยะผ่านลดการบริโภค นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปแปรรูป (reduce, reuse, recycle)
และเพราะปัญหาขยะไม่สามารถแก้ด้วยคำตอบสำเร็จรูป เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีขยะแตกต่างกัน มีวิธีจัดการที่แตกต่างกัน เช่น คอนโดห้องเล็กเก็บขยะได้น้อย ตลาดเศษอาหารเยอะ ห้างคนเดินผ่านเร็ว ฯลฯ แนวคิดมาตรฐานเพื่อจะแก้ปัญหาให้เป็นไปในทางเดียวกัน จึงไม่สำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม คุณเปรมได้ส่งต่อแนวคิดที่จะทำให้ขยะหายไปโดยที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการปรับมุมมองใหม่กับสิ่งของที่เราทิ้ง เริ่มจากสื่งที่เรารู้จักมันดี ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นกระดาษ แก้วน้ำ หรือแม้กระทั่ง ขวดน้ำดื่ม เริ่มเพียงแค่ 1 ชิ้น เรียกชื่อสิ่งๆนั้นอย่างที่มันเป็น ทำต่อเนื่องทุกวัน แล้วจะพบว่าขยะจะหายไป เพราะเมื่อเราเปลี่ยนนิยามการให้ค่ากับสิ่งเหล่านั้น กรอบการคิดในการมองและการกระทำของเราก็จะเปลี่ยนไป
ในช่วงกิจกรรมต่อยอดไอเดีย Adventure ด้วยการลงมือทำนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงที่หนึ่ง เป็นการเรียนรู้การแยกขยะ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อลองแยกขยะในแต่ละฐานซึ่งจำลองมาจากสถานที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเมืองจำนวน 6 แห่ง คือ โรงเรียน บ้าน สำนักงาน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และงานอีเว้นท์ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็พบว่าขยะและถังขยะในแต่ละที่นั้นมีลักษณะและข้อจำกัดเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง หรือขยะอันตรายต่างๆ (โดยเฉพาะในคอนโดฯ ที่รอบแรกมีถังขยะอยู่ถังเดียวตามสภาพความเป็นจริงของคอนโดฯ ส่วนใหญ่) หลังจากได้ทำความเข้าใจถึงลักษณะและข้อจำกัดดังกล่าว ก็ถึงเวลาเข้าสู่ช่วงที่สองที่แต่ละกลุ่มจะมีโอกาสในการออกแบบและสร้างต้นแบบถังขยะและระบบคัดแยกขยะให้แก่สถานที่ทั้งหกแห่งดังกล่าว โดยที่แต่ละทีมก็มีแนวคิด (concept) และรูปแบบที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบให้ถังขยะมีลักษณะสูงต่ำและขนาดที่ต่างกัน การมีฝาปิดให้กับถังขยะที่ใส่เศษอาหารเพื่อระงับกลิ่น เป็นต้น
ในตอนท้าย ดร.ปเนตและคุณเปรมได้ให้ข้อสรุปว่า นอกจากรูปแบบของถังขยะแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ คนทิ้งขยะเป็นใคร เวลาที่ใช้ทิ้งถังขยะนานแค่ไหน ของที่จะทิ้งมีเท่าไร และที่สำคัญพื้นที่ที่จะวางถังขยะมีขนาดไหน ในบางสถานที่ เช่น ตามงาน อีเว้นท์ต่างๆ นอกจากถังขยะแล้ว ยังอาจมีเจ้าหน้าที่ที่ช่วยในการคัดแยก เพื่อช่วยสนับสนุนการคัดแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ในสถานที่บางแห่ง อาจจะมีศักยภาพในการสร้างต้นแบบเรียนรู้ให้เพื่อเกิดการบริหารจัดการขยะแบบยั่งยืน เช่น ในสำนักงาน โรงเรียน และคอนโด ซึ่งทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าไม่ได้มีคำตอบเดียวที่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง สามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับบริบทในแต่ละสถานที่ ในฐานะปัจเจกบุคคล เราสามารถมีส่วนช่วยเหลือโลกใบนี้ได้ด้วยตัวเรา เพียงแค่หยุดคิดก่อนทิ้งในแต่ละครั้ง ปลายทางของสิ่งที่เราเคยเรียกว่า ‘ขยะ’ อาจไม่จำเป็นต้องจบที่ถังขยะเสมอไป’
สำหรับใครที่สนใจอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรม Zero Waste
สามารถติดตามได้ที่เพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป และ Chiang Rai Zero Waste