Living with Robots…ก้าวข้ามคำว่าเป็นไปไม่ได้ – มหิศร ว่องผาติ

แชร์ไปยัง:

เรื่อง : วรรณวีณา ตั้งเสถียรภาพ

ภาพ : ธารริน อดุลยานนท์

ในยุคทีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆที่คนเคยจินตนาการไว้ในนวนิยาย เริ่มปรากฏให้เห็นเค้าลางความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ ยาเม็ดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบและจำแนกบุคคล หรือหุ่นยนต์ที่เข้าใจอารมณ์พื้นฐานและตอบสนองต่อคำสั่งต่างๆของมนุษย์ อนาคตเคลื่อนที่เข้าหาเราด้วยอัตราเร่งที่สูงมากกว่าในอดีต ที่หากสมมุติว่า เราสามารถนอนจำศีลและหลับไปหนึ่งชั่วอายุคนได้ เมื่อตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ก็อาจเป็นไปได้ว่าโลกที่รู้จักและคุ้นเคยอาจจะไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว

การมองไปอนาคตแล้วย้อนกลับมาเพื่อสร้างปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงชวน พี่ช้าง Mahisorn Wongphati หนึ่งในสปีคเกอร์ที่เคยมาร่วมทอล์กบนเวทีของ TEDxBangkok ในปี 2015 ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround สตาร์ทอัพที่มุ่งผลิตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อันเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต มาร่วมพูดคุยกัน

TEDxBangkok: ทำไมถึงสนใจเรื่องหุ่นยนต์ อะไรเป็นตัวจุดประกาย

มหิศร: มีความชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ มาตั้งแต่เด็กๆแล้ว ตั้งแต่สมัยประถมก็หัดทำวงจรอิเล็คทรอนิกส์ แล้วก็ชอบการประกอบสิ่งต่างๆ อีกส่วนหนึงที่ทำให้เราสนใจเรื่องพวกนี้ก็คือ ชอบดูการ์ตูนเรื่องโดเรม่อน การ์ตูนหุ่นยนต์อะไรประมาณนี้ ก็พัฒนาความสนใจเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเรื่องหุ่นยนต์มีความสำคัญนะ มันเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการด้วย และที่สำคัญมันเป็นสิ่งที่ชอบแล้วสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วย ก็ยิ่งตอบโจทย์

TEDxBangkok: หุ่นยนต์สำคัญต่อชีวิตมนุษย์เราอย่างไร

มหิศร: คิดว่าความสำคัญของหุ่นยนต์จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องการทดแทนแรงงาน ในตอนนี้หุ่นยนต์ก็เข้ามาทดแทนคนเพื่อทำงานที่มันเสี่ยงอันตรายมาก ๆ หรือในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ก็เริ่มมีหุ่นยนต์บริการ (service robot) เข้ามาช่วย นอกจากนี้มันยังสำคัญในแง่ที่จะช่วยพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น เพราะคนที่ทำงานเสี่ยงๆ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมแย่ๆ ไม่ได้แปลว่าชีวิตเขาต้องจมอยู่กับงานแย่ๆ แบบนั้นตลอดไป เขาควรจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสทำงานที่มีค่ามากกว่านั้นกับตัวเองและสังคม ซึ่งก็เห็นได้ว่าการใช้หุ่นยนต์แทนตอบโจทย์ตรงนี้ได้

TEDxBangkok: คุณต่อยอดไอเดียที่มี มาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้อย่างไร

มหิศร: มันเริ่มจากว่า เราทำหุ่นยนต์ แข่งหุ่นยนต์ แล้วเรียนต่อด้านหุ่นยนต์ เราก็อยากทำงานที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ แล้วพอกลับเมืองไทยไม่มีบริษัททางด้านนี้ ก็เลยตั้งบริษัทเอง หลังจากตั้งบริษัทขึ้นมาก็ค้นพบว่ามีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ณ ตอนนั้น เมื่อสี่ห้าปีก่อน ความต้องการหุ่นยนต์ในไทยยังน้อยมาก และยังจำกัดวงอยู่ในเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง จากนั้นก็เห็นช่องทางเปิดขึ้นมาเรื่อยๆ ธุรกิจเริ่มไปได้ นอกจากนี้ ส่วนตัวเองก็มีความสนใจด้านธุรกิจอยู่แล้วด้วย ทำให้กลายเป็นว่านอกจากเราได้ทำหุ่นยนต์ที่เราอยากจะทำแล้ว มันก็สามารถเป็นธุรกิจได้ด้วย นอกจากนี้ เราก็มีทีมที่ถือว่าดีมาก ที่เป็นวิศวกรในหลายๆด้านมารวมกัน ทั้งนี้บริษัทเริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 แต่พึ่งกลายร่างมาเป็นเหมือน start up ด้าน robotic เมื่อปี 2016

P1011982 1 TEDxBangkok

TEDxBangkok: พอต่อยอดจากไอเดีย มาเป็นการลงมือทำหุ่นยนต์ด้วยตัวเองอย่างจริงจัง ได้เรียนรู้อะไรจากการทำสิ่งเหล่านี้บ้าง

มหิศร: อย่างแรกคือ สิ่งที่คิดว่าจะขายได้ ไอเดียที่น่าจะขายได้ มันขายไม่ได้ ถ้าไม่ได้มาเห็นความต้องการของลูกค้าจริงๆ อย่างที่สอง คือ การทำหุ่นยนต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ มันยากกว่าการทำหุ่นยนต์ไปแข่งมาก เพราะว่า ตอนแข่งหรือการทำวิจัย เราทำสัก 70-80% ก็ใช้งานหรือนำไป demo ได้แล้ว แต่การทำหุ่นยนต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ มันต้องทำให้สมบูรณ์ ซึ่งในส่วนของ 30% หลังนี้ มันมีความยากเย็นแสนเข็ญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเสถียรในการใช้งาน การตั้งราคา การรับประกัน ตลอดจนการให้บริการหลังการขาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องยาก การลงมือทำหุ่นยนต์ด้วยตัวเอง ทำให้เราเห็นโลกจริงขึ้นมาก คือการสร้างตัวหุ่นยนต์ขึ้นมานอกจากจะยากแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ยากไม่แพ้กัน

TEDxBangkok: อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณยืนหยัดทำงานนี้อยู่ และก้าวผ่านความยากลำบากต่างๆ มาได้

มหิศร: สิ่งหลักๆ คือ ทีมที่ร่วมงานด้วยกัน และแรงสนับสนุนจากข้างนอก ซึ่งจริงๆ แล้ว TEDxBangkok เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เราได้มาทำอะไรแบบนี้ ปีที่ไปขึ้นพูดบนเวที คือ ปี 2015 เรามีทีมงานทั้งหมด 5 คน การขึ้นทอล์กเหมือนเป็น profile ชีวิตอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เรา present ต่อไปได้ว่าเรามี passion ต่อเรื่องนี้นะ นอกจากนี้ ยังเป็นเหมือนการตั้งธงกับตัวเองว่า พูดอะไรไป ก็ต้องทำให้ได้นะ และถึงแม้การทำหุ่นยนต์และการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้แล้วสนุก

ในหลายๆ ปัญหาที่เราพบเจอถ้าเราแก้ได้ จะทำให้ปัญหาอื่นแก้ได้ด้วย หรือบางปัญหาถ้าแก้ไม่ได้ เราก็ไปต่อไม่ได้

TEDxBangkok: ที่บอกว่าเป็นสิ่งที่เรียนรู้แล้วสนุก การเรียนรู้แบบไหนที่เรียกว่าสนุกสำหรับคุณ

มหิศร: เรื่องการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่มันยังไม่สำเร็จ ซึ่งถ้ามันไม่ใช่ข้อจำกัดทางฟิสิกส์ หรือข้อจำกัดที่เราแก้ไม่ได้จริงๆ เราก็จะพยายามแก้ พยายามหาคำตอบ ซึ่งในหลายๆ ปัญหาที่เราพบเจอถ้าเราแก้ได้ จะทำให้ปัญหาอื่นแก้ได้ด้วย หรือบางปัญหาถ้าแก้ไม่ได้ เราก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเราจะพยายามแก้ไขปัญหานั้น

TEDxBangkok: มีผลงานชิ้นไหนไหมที่ทำแล้วรู้สึกสนุกหรือภาคภูมิใจที่ทำได้สำเร็จ

มหิศร: น่าจะเป็นเครื่องบินลำใหญ่ที่ไร้คนขับ ที่ผลิตให้กับทางกองทัพอากาศ เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะ แล้วก็ได้ลองใช้ของที่ปกติไม่เคยใช้ เช่น อุปกรณ์ราคาสูงที่เป็นเกรดทหาร มีความแน่นอนและเสถียรมาก และมั่นใจได้แน่ๆว่าจะไม่พังง่ายๆ การทำหุ่นยนต์ประเภทนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การสร้างของที่มันทนจริงๆ ได้จริง และยังเป็นไอเดียพื้นฐานสำคัญในการทำหุ่นยนต์ตัวต่อๆมา

TEDxBangkok: การจะทำหุ่นยนต์ให้สำเร็จสักตัวหนึ่งและทำเป็นธุรกิจได้ต้องใช้ความรู้ด้านใดบ้าง

มหิศร: เฉพาะตัวหุ่นยนต์ก็มี 3 ศาสตร์หลัก คือ เครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ จับมารวมร่างกัน สิ่งที่ได้คือ เป็นหุ่นยนต์ตัวป้อมๆ ตัวหนึ่งที่เราสามารถบังคับได้ แต่การที่จะทำให้มันเคลื่อนที่อัตโนมัติหรือตามใจสั่งนั้น มันต้องมี software อยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ใช้ความรู้อีกชุดหนึ่ง นอกจากนี้ต้องมีคนที่มีความสามารถทางธุรกิจ นำหุ่นยนต์ไปจำหน่ายได้ ดังนั้นมันจึงมีความซับซ้อน และมี value chain ค่อนข้างยาว กว่าจะผลิตหุ่นยนต์ให้สำเร็จสักตัวหนึ่งและส่งถึงมือลูกค้า

P1011985 1 TEDxBangkok

TEDxBangkok: ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาในเรื่องหุ่นยนต์มากน้อยแค่ไหน

มหิศร: เรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์นี้มองได้สองมุม มุมแรกคือมุมวิจัยและคนที่มีความรู้ด้านหุ่นยนต์ เรามีอาจารย์ระดับ top เก่งๆ เยอะที่ได้ตีพิมพ์งานใน journal ระดับโลก และจบการศึกษาจากต่างประเทศทั้งอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น ในแง่ความสามารถของคน ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ในอีกมุม คือ เรื่องความต้องการในประเทศ ประเทศไทยมีความต้องการด้านนี้ยังไม่ค่อยเยอะ เราไม่ได้ใหญ่พอแบบประเทศจีน ที่แค่อุปสงค์ภายในประเทศก็มโหฬารแล้ว หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีธุรกิจต้นน้ำ-ปลายน้ำชัดเจน เขามีธุรกิจหุ่นยนต์และธุรกิจรถยนต์ที่ต้องการหุ่นยนต์

เมืองไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นประเทศแปรรูปอาหาร ธุรกิจบริการ ซึ่งหุ่นยนต์ที่เหมาะกับเมืองไทย เป็นประเภทหุ่นยนต์บริการ ซึ่งจัดว่าเป็นหุ่นยนต์ที่ยังอยู่ในระดับงานวิจัยอยู่เยอะมาก ต้องใช้เวลาในการพัฒนา และต้องใช้เงิน ประเทศเราอาจจะยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณด้านนี้ ด้วยเหตุผลทางโครงสร้างและนโยบายต่างๆ อย่างไรก็ตาม การพัฒนามีแนวโน้มค่อยๆ ดีขึ้น แต่อาจจะยังเป็นไปในอัตราเร่งที่ยังไม่ทันใจใครหลายๆ คน

TEDxBangkok: ในประเทศที่การพัฒนาด้านหุ่นยนต์มีการพัฒนาอย่างมาก เช่น ญี่ปุ่น ประเทศเขามีการสนับสนุนคนที่ทำงานด้านนี้อย่างไร

มหิศร: สำหรับประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมีชัดเจนนะ หุ่นยนต์อุตสาหกรรมน่าจะเป็นหุ่นยนต์ที่สร้างรายได้ให้ประเทศเขาค่อนข้างเยอะ มีการจัดตั้งสมาคม เช่น JARA (The Japan Robot Association) ที่คอยรับงานป้อนบริษัทต่างๆ พวกเรื่อง service robot ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยอะไรต่างๆ ก็ค่อนข้างมีพร้อม และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีการวิจัยในหลายๆ แง่มุม ซึ่งรวมไปถึงการสำรวจไปในมุมที่ไม่คุ้นเคย เช่น อยากรู้ว่าถ้าทำหุ่นยนต์เหมือนคนจะเป็นอย่างไร คนจะรู้สึกอย่างไร ก็มีงานวิจัยของอาจารย์อิชิกูโร่ (ฮิโรชิ อิชิกูโร่) ที่ทำหุ่นยนต์เจมินอยด์ที่เหมือนคน เขาก๊อปปี้ตัวเอง แล้วให้คนลองตบหน้า เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ลองทำก๊อปปี้หุ่นยนต์ของนักศึกษาผู้หญิง แล้วให้คนไปแกล้งตัวหุ่นยนต์ก๊อปปี้ ปรากฏว่าคนที่เป็นตัวต้นแบบก็ได้รับความรู้สึกแบบเดียวกับตัวหุ่นยนต์ก๊อปปี้

พอเราฟังผลแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่า เออ มันน่าสนใจ เรื่องประหลาดๆ แบบนี้ทำให้เราเรียนรู้เหมือนกันว่า การผลิตหุ่นยนต์ มันก็มีมิติที่ข้ามเส้นไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมจรรยาบรรณ การศึกษาในมุมแปลกประหลาดแบบนี้ ก็เป็นพื้นฐานให้กับวงการพัฒนาหุ่นยนต์ เปรียบได้เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อน ที่ทำการทดลองต่างๆ นานา แล้วก็กลายมาเป็นพื้นฐานของงานวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้

TEDxBangkok: หากมีน้องๆ ที่สนใจงานด้านนี้ หรือมีไอเดีย ควรเริ่มต้นจากอะไร

มหิศร: อยากทำอะไร ลองลงมือทำเลย จะได้รู้ว่าชอบไม่ชอบ ลองไปเยอะๆ ลองไปหลายๆ อย่าง การรู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรสำคัญพอๆกับรู้ว่าตัวเองชอบอะไร และถ้าเรายิ่งรู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะได้ตัดตัวเลือกออกไป ดังนั้นสำคัญที่เราต้องลองลงมือทำ เราถึงจะรู้ การผิดพลาดไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะเราจะเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อไป

เราต้องลองลงมือทำ เราถึงจะรู้

การผิดพลาดไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เราจะได้เกิดการพัฒนาต่อไป

ผู้เขียน: mountain

Read More