มาต่อกันสำหรับ Talk ในช่วงบ่าย หลังจากที่ผู้เข้าร่วมได้ลิ้มลองอาหารอาเซียน เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้านนอกโรงละคร และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อต่อยอดไอเดียกันอย่างหอมปากหอมคอ ก็ถึงเวลาสำหรับการเก็บเกี่ยวไอเดีย Learn.Unlearn.Relearn จาก Speaker และการแสดงของเรากันต่อแล้ว
1. รัสมี เวระนะ (แป้ง)
เริ่มต้นช่วงบ่าย สลัดความง่วงที่จะเกิดขึ้นด้วยการแสดงจากรัสมีที่มาพร้อมกับวงอีสานโซลแบบ Full Band รัสมีพาผู้เข้าร่วมมา Unlearn และ Relearn ว่า หมอลำกับโซลมันก็ช่างเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ
- รัสมีเสิร์ฟออร์เดิร์ฟให้แก่ผู้ชมด้วยเพลงมายา เมนคอร์สได้แก่เพลงลำดวน ก่อนจะปิดท้ายด้วยเมืองชุดดำ ซึ่งไต่ระดับอารมณ์ความพีคขึ้นเรื่อย ๆ จนคนทั้งโรงละครร่วมกันเซิ้งและขานรับ “เด้อๆ อ้ายเด้อ” ร่วมกันร้องท่อนฮุคอย่างสนุกสนาน
- เครื่องดนตรีเต็มวงที่ผสมรวมทั้งกีตาร์ พิณอีสาน กลองชุด เพอร์คัสชัน และเบส กลมกลืนเป็นดนตรีร่วมสมัย เกิดทำนองในแบบโซล กอปรกับเสียงร้องหมอลำและการเซิ้ง สะกดตราตรึงทุกคนไปกับบทเพลง ที่ทำให้คุณลืมการร้องหมอลำแบบเดิมๆ ไปได้เลย
- เนื้อเพลงยังคงสื่อสารและร้องในรูปแบบหมอลำ ซึ่งวัตถุดิบในการแต่งของรัสมีมาจากเรื่องราวที่พบและประสบในชีวิต เนื่องจากร้องหมอลำมาแต่เด็ก แล้วโตมาได้ฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้นจากโซนยุโรป จึงอยากจะมิกซ์การร้องหมอลำและสไตล์เพลงโซลที่ตัวเองชอบเข้าด้วยกัน เกิดเป็นดนตรีแนวใหม่ที่ไม่ซ้ำใคร
- ในตอนที่เริ่มต้นทำเพลงและวงอีสานโซล รัสมีไม่ได้คิดถึงเรื่องความเป็นไทยเป็นหลัก เพียงแค่ทำในสิ่งที่ตัวเองเป็นมาก่อนคือการร้องหมอลำตั้งแต่ยังเด็ก
2. นสพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร (หม่อม)
หลังจากตื่นเต็มตาแล้ว Talk แรกของช่วงบ่ายได้พาผู้เข้าร่วมไป Unlearn กันต่อกับนวัตกรรม “วัคซีนพืช” มูลค่าร่วมสิบล้านบาทจากผู้ที่เรียนจบมาทางด้านสัตวแพทยศาสตร์
- หมอหม่อมเริ่มตั้งคำถามกับเราเกี่ยวกับส้มบางมด ที่เคยหวานอร่อย แต่ตอนนี้กลับหากินยากและรสชาติไม่ดีอย่างเคย เพราะมีโรคกรีนนิ่งระบาดรุนแรงในไร่ส้ม และยังแพร่ระบาดไปยังที่อื่น ซึ่งทางแก้ของชาวไร่ส้มก็หนีไม่พ้นการใช้ยาฆ่าแมลงและยาปฏิชีวนะ ก่อนจะนำผลส้มไปเคลือบแว็กซ์
- ประเทศไทยนำเข้ายาฆ่าแมลง 149,000 ตันต่อปี ภายใต้ผักผลไม้สภาพสวยงาม แต่ด้านในกลับเต็มไปด้วยสารพิษและอันตราย ทำให้สุดท้ายผลเสียก็มาตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่รัฐบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนอีกต่อ และเกษตรกรก็ต้องเสียเงินค่ายาฆ่าแมลงอีกด้วย
- หมอหม่อมเป็นสัตว์แพทย์ที่กระโดดมาทำงานวิจัยทางด้านพืช จากแนวคิดตั้งต้นว่ามีวัคซีนสัตว์แล้วก็น่าจะมีวัคซีนพืช จนนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่กระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันต่อแมลงและโรคพืชได้จริงๆ
- กว่าจะสำเร็จได้จนทุกวันนี้ คุณหมอก็ผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย จริงๆ การวิจัยอาจไม่ใช่เรื่องที่เหนื่อยที่สุด แต่กลับเป็นเรื่องที่ตอนเวลาไปขอเงินทำวิจัยแล้วโดยสบประมาทต่างหาก หมอหม่อมแชร์ประสบการณ์จากการทำงานวิจัยว่า เราต้องมองหาโอกาสจากสิ่งรอบตัว ค้นหาแหล่งที่จากภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการทำวิจัย แล้วสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนักวิจัยเก่งๆ เพื่อต่อยอดไอเดีย
- ยังมีงานวิจัยในประเทศที่เจ๋งๆ อีกมากมายที่รอการผลักดันจากหิ้งลงมาสู่ห้าง และยิ่งหากสามารถนำออกไปสู่ภายนอกได้ เม็ดเงินที่ไหลกลับเข้ามาแก่ประเทศจะมีมูลค่ามหาศาล แล้วสุดท้ายก็วนกลับมาเป็นแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นทำวิจัยให้กับรุ่นต่อๆ ไป
- “สิ่งที่มนุษย์ค้นพบนั้นมันยิ่งใหญ่มาก แต่สิ่งที่มนุษย์ยังค้นไม่พบยิ่งใหญ่มากกว่า เรามาช่วยกันทำให้ประเทศไทยของเราเป็น “ครัวของ ‘โลก’ไม่ใช่ครัวของ ‘โรค’ ”
3. พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา (น้ำหวาน)
น้ำหวานขึ้นเวทีมาพร้อมกับการบอกว่าตนเองเป็น “คนสองโลก” ที่เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างโลกสี่เหลี่ยมของคนเมือง กับโลกกลมๆ ของคนภูเขา
- น้ำหวานเรียกตัวเองว่า “คนสองโลก” จากชีวิตที่เป็นทั้งคนเมืองหรือ “โลกสี่เหลี่ยม” ซึ่งเป็นโลกที่รวดเร็ว กดปุ๊บติดปั๊บ แต่นอนไม่หลับ เพราะกังวลว่าจะทำงานไม่ทัน จนได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ประเทศพม่า ทำให้ได้พบโลกอีกโลกที่ผู้คนจริงใจ ไม่ต้องใช้เงินสักบาทก็มีความสุขได้ เป็นโลกช้าๆ ที่อยากมีกินต้องลงมือปลูกเอง น้ำหวานเรียกโลกแบบนี้ว่า “โลกกลมๆ”
- น้ำหวานเคยเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านโดยไม่เคยตั้งใจฟังความต้องการของเขา ไปใส่ความอยากช่วยเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วการจะเข้าไปช่วยเหลือคนในพื้นที่นั้น คนที่เข้าไปต้องรับฟังและทำความเข้าใจคนในพื้นที่ด้วย
- จากการเป็นคนที่ได้สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ในทั้งสองโลก ทำให้น้ำหวานเห็นด้านที่ดีของโลกทั้งสองแบบ เพราะองค์ความรู้จากโลกสี่เหลี่ยมก็มีส่วนสำคัญกับความอยู่รอดและความมั่นคงของชุมชน
- ไม่นานมานี้ ลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเข้าไปให้ความช่วยเหลือ บอกว่าอุปกรณ์ที่ดีที่สุดคือ เครื่องระบุตำแหน่ง GPS และ Google Earth เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านเห็นสภาพปัญหาการบุกรุกป่าชัดเจนขึ้น ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงปัญหามากขึ้น
- ทางออกของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงจุดที่โลกทั้งสองโลกมาเชื่อมกันคือ “ความเป็นมนุษย์” เพราะความเป็นมนุษย์มีความเมตตาและมีศักยภาพที่จะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เราอาจหยุดคิดแล้วตั้งคำถามกับชีวิตว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้อยู่รอด
- เรามักจะนำมุมมองแบบคนโลกสี่เหลี่ยมไปตัดสินคนโลกกลมๆ น้ำหวานชวนให้เราออกไปสัมผัสความเป็นโลกกลมๆ เพราะอาจทำให้เราเปลี่ยนแปลงความคิดบางอย่างได้ และชวนให้เราปลุกความเป็นมนุษย์ ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ ทำให้พวกเขาได้เห็นว่าโลกต้องการความหลากหลายและการเชื่อมโยงพึ่งพากัน
4. จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา (ลิงค์)
เขาคือผู้ที่เชื่อว่าสิ่งล้ำๆ ในหนังไซไฟเป็นจริงได้ด้วยการให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงออกผ่านงานฝีมือของคนไทย
- จากวัยเด็กที่เติบโตมาในยุคการ์ตูนญี่ปุ่น แต่โดยส่วนตัวแล้วคุณลิงค์ชอบหนังไซไฟพวก Minority Report และ Iron Man จนเกิดเป็นเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำเทคโนโลยีว้าวๆ แบบในหนังบ้าง จึงเลือกเรียนวิศวกรรมซอฟท์แวร์ และเปิดบริษัท Exzy
- เริ่มต้นการขายงานด้วยการจำลองทำโต๊ะแบบ Multi-touch นำไปเสนอเพื่อให้ลูกค้าเห็นไอเดีย เป็นการผลิตงานโดยใช้ฝีมือแบบง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ จะเป็นอย่างไร แล้วสุดท้ายก็ได้ผลิตเป็นชิ้นงานที่มีความล้ำให้เกิดขึ้นได้จริง
- Emerging technology เหล่านี้กำลังจะมา เราจะพัฒนาภาคการผลิตที่ต้องใช้ฝีมือทำให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้อย่างไร
- มูลค่างานหัตถกรรมส่งออก 60,000 ล้านบาทต่อปี ส่งออกไปยังประเทศที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในโลกอย่าง ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เป็นตัวชี้ว่าประเทศไทยเรามีภาค Craftsmanship ที่มีความสามารถและประณีต แต่กลับถูกนำมาใช้ในวงการเทคโนโลยีน้อยมาก แรงงานฝีมือจึงมีมูลค่าต่ำมาก หากเทียบกับงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- การกระตุ้นกลุ่มคนที่มีฝีมือในด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อมาร่วมกันสร้างนวัตกรรม เป็นการใช้ต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่แล้วมาผนวกกำลังกัน ผลักดันให้โลกไซไฟกับโลกอนาคต มาบรรจบรวมเข้าหากันและกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้
- คุณลิงค์ชี้ชวนให้พวกเราตระหนักถึงการให้ Meaning และ Money กับกลุ่มคนทำงานฝีมือมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านเราจากผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตและผู้นำในบางมิติในอนาคต
5. นิติ ชัยชิตาทร (ป๋อมแป๋ม)
กะเทยมากความสามารถที่ชี้ชวนให้เราเท่าทันอคติผ่านการแปะป้าย แถมชี้ช่องให้คนที่มักจะโดนแปะป้ายบิดตัวเองเพื่อค้นหาศักยภาพด้านอื่นๆ ของชีวิต
- ป๋อมแป๋มเป็นกะเทยมาจะเข้าปีที่ 40 ของชีวิต เห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด สมัยเด็กคนบอกว่าเป็นโรคจิต ต่อมา บอกว่าเป็นโรคเอดส์ เพราะเราอยู่ในโลกที่เกย์มักจะเป็นโรคเอดส์ ต่อมาก็มีการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งถ้าใครไม่ยอมรับก็จะว่าเชย คำถามคือ แล้วกะเทยต้องเป็นคนตลกและสร้างสรรค์สีสันเสมอไปหรือ ความเข้าใจเหล่านี้ผิดมาจากไหน?
- การที่สังคมไม่ได้รู้จักสิ่งหนึ่งทั้งหมดทุกมุม จึงต้องเดากันไปเดามา จนกลายเป็น Stereotype แต่เราไม่เคยคิดว่า Stereotype มักจะมาพร้อม Attitude ซึ่งเมื่อสองสิ่งมาเชื่อมโยงกัน ก็จะกลายเป็น Labelization หรือที่เรียกว่า การแปะป้าย ตัวอย่างของการเแปะป้าย เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคน ถ้าเป็นผู้ชายจะมองว่า ดี ถ้าเป็นผู้หญิง จะมองว่าไม่ดี ถ้าเป็นกะเทย จะมองว่าเป็นเรื่องปกติ
- สำหรับคนที่แปะป้ายคนอื่น คุณจะไม่สามารถมีคุณค่าอะไรบนโลกนี้ได้เลย การแต่งงานจะไม่ใช่เรื่องที่ดีจนกว่าจะรู้เป็นงานแต่งของใคร ความรักจะไม่สิ่งสวยงามจนกว่าจะรู้ว่าคนแต่งงานคือใคร คุณจะกลายเป็นคนหลักลอย ดังนั้น เราจะถือไฟฉายมองอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็ขอให้ถือให้สูง และมองให้กว้างขึ้น
- สำหรับคนที่ถูกแปะป้าย ขอให้ตระหนักว่า บางทีเราก็แปะป้ายตัวเองด้วย ซึ่งอาจส่งผลไปสู่การเสียโอกาสดีๆ ในชีวิตไปโดยไม่รู้ตัว
- ป๋อมแป๋มพบว่า เขาเริ่มเปิดโอกาส “บิด” ให้ตัวเองได้พบมุมใหม่ของตัวเอง ให้พบว่าเขามีด้านที่เป็นนักท่องเที่ยว มีด้านที่สามารถส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพียงแค่ป๋อมแป๋มบิดด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การเป็นกะเทยให้คนอื่นเห็น ทำให้เขาได้พบศักยภาพใหม่ที่งดงาม ยิ่งใหญ่ เพราะถ้าไม่บิดออกมา ด้านที่งดงามเหล่านั้นก็จะซ่อนอยู่ในความมืด
6. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
อดีตนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ปัจจุบันหันมาจับงานด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ ที่มาวิเคราะห์ให้พวกเราฟังว่า ประเทศเรา มีบั๊กที่ตรงไหน
- นวัตกรรมที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในสังคมโลกปัจจุบัน ได้สร้างหลายสิ่งที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ อาทิเช่น โปรแกรม AlphaGo ที่สามารถแข่งโกะจนเอาชนะมนุษย์ที่เป็นแชมป์โลกได้ และรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง
- เทคโนโลยียุคดิจิทัลเป็นส่วนผสานระหว่างการพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่ก้าวกระโดด การพัฒนาของซอฟต์แวร์อย่างยกกำลัง รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาต่อยอดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
- ในขณะที่โลกกำลังมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้านต่างๆ แก่ประชาชน หรือที่เรียกว่า Open data ประเทศไทยกลับปิดกั้นข้อมูลเพื่อการเรียนรู้โดยการสร้างกฎเกณฑ์มากมายจนเข้าถึงยาก หรืออาจเข้าถึงไม่ได้เลย ไม่แปลกที่เราจะเข้าไปในเว็ปไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งแล้วต้องเจอกับคำว่า ” เว็ปไซต์นี้มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม…” แอปและบริการยอดฮิตที่มาทดแทนการเรียกรถแท็กซี่แบบเดิมๆ อย่าง Grab และ Uber ได้ถูกแบน ผู้ใช้ Drone ในไทยจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น หรือแม้แต่การนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ ก็มีข้อจำกัดมากมาย
- ในทางตรงกันข้าม หลายประเทศกลับเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงหน่วยงานของภาครัฐได้อย่างเสรี ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเปิดเผยข้อมูลด้าน GPS มีประโยชน์ต่อการพัฒนาแอปจับคู่และแอปนำทางบนท้องถนน อีกทั้งสามารถใช้ระบุตำแหน่งคนหายยามเกิดภัยพิบัติได้ เป็นต้น
- การเตรียมรับมือกับยุคดิจิทัลของไทย แทนที่จะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อมาจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน รัฐบาลควรร่วมมือกับประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนรว่วม แสดงความคิดเห็น และเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้ทันกับความรวดเร็วของยุคดิจิทัล
- “ถ้าประชาชนสามารถเปลี่ยนนโยบายของรัฐได้คือการปฏิรูป ถ้าเราเปลี่ยนความคิดความเชื่อของประชาชนคือการปฏิวัติ”
7. ทิชา ณ นคร (ป้ามล)
ผู้หญิงที่เชื่อว่า “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” และทำทุกวิถีทางที่จะสืบเสาะและฟูมฟักด้านดีของเด็กที่ก้าวพลาด เพื่อสังคมที่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน
- ป้ามลเริ่มต้นด้วยการยกกรณีตัวอย่างของเด็กที่กระทำความผิด การลงมือครั้งแรกของนายเอ เขาลั่นไกใส่คู่อรินัดแรก แต่ไม่ตาย การลั่นไกครั้งที่สอง เขาตั้งใจว่าต้องมีคนตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง และการได้รับเสียงชื่นชมจากเพื่อนในความสามารถของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต เขาไม่เคยมีพื้นที่หรือตัวตนในสายตาคนอื่น ส่วนนายบีเล่าให้ฟังว่าแม่ของเขาจะใช้อะไรก็ตามที่คว้าได้มาฟาดเขา นายบีจะไม่ทำอะไรกับแม่ แต่จะไปปฏิบัติต่อกับคนอื่น
- ในแต่ละปีมีเด็กประมาณ 1 ล้านคนเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่กลับถูกให้ออกจากโรงเรียนประมาณ 1 แสนคน มีเด็ก 3-5 หมื่นคนที่กระทำผิด และเกือบ 70% อยู่ในกลุ่มที่โดนให้ออกจากโรงเรียน
- ป้ามลเล่าว่า เวลาเราให้เด็กหนึ่งคนออกจากโรงเรียน เขาไม่ได้เอาแต่ตัวออกไป แต่เอาความพ่ายแพ้ออกไปด้วย บวกกับความอิสระ เวลาว่าง เขาจึงกลายเป็นคนต่อต้านสังคม และกลายเป็นอาชญากรเด็กในที่สุด
- ป้ามลไม่เชื่อว่าวิถีแห่งวัฒนธรรมแบบคุก จะนำไปสู่การทำให้ผู้ที่เคยกระทำผิดกลับตัวได้ บ้านกาญจนาภิเษก จึงทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงของเด็กที่ก้าวพลาด และนำสัญลักษณ์ของความเป็นคุกออกไปเสีย คุกเด็กแห่งนี้จึงไม่มีรั้ว ให้เด็กแต่งตัวและทำผมได้ตามใจ จัดการพาสมาชิกของบ้านไปทำกิจกรรมจิตอาสา เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองของเด็กๆ มีโอกาสมาดูแลลูกหลานของตัวเองที่บ้านหลังนี้ และจัดให้เรียนรู้ “วิชาชีวิต” ที่เด็กๆ จะได้นำติดตัวไปใช้ได้ตลอดไป
- ทุกๆ วันที่ 16 สิงหาคม บ้านกาญจนาภิเษกจะจัดพิธี “วันแห่งการให้อภัย” อันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่ก้าวพลาดได้มีโอกาสขอขมาเหยื่อรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เขาเป็นคนก่อขึ้น พิธีกรรมนี้จัดขึ้นบนฐานแนวคิดที่ว่าเด็กทุกคนยังคงมีเมล็ดพันธุ์แห่งคุณงามความดีอยู่ในตัว และรอคอยที่จะได้รับโอกาสจากการก้าวพลาดของเขาเอง
8. พระจิตร์ จิตฺตสํวโร
อดีตนักการตลาดที่แชร์ประสบการณ์ของตนเองภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ว่า ทำอย่างไรใจจึงสงบท่ามกลางความไม่ชอบทั้งหลายที่อยู่รอบตัว
- หลายคนคิดว่าคนที่ออกบวช ต้องเป็นคนที่มีความทุกข์ หรือไม่ก็ตามหาอะไรสักอย่างในชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะคิดว่า การบวชมันมีอะไรมากกว่านั้น มันเป็นหนทางที่นำไปสู่สัจธรรมที่ว่า ชีวิตแท้จริงแล้วไม่เที่ยง และเป็นส่ิงที่ไร้แก่นสาร
- จากครีเอทีฟที่ประสบความสำเร็จมากในวงการโฆษณา ได้รับรางวัลมามากมาย รางวัลเหล่านั้นน่าจะเป็นสิ่งยืนยังความสำเร็จและเติมเต็มให้กับชีวิต หากแต่มันกลับสร้างความว่างเปล่าในจิตใจให้กับพระจิตร์อย่างบอกไม่ถูก พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ชีวิตมันแค่นี้หรือ”
- “กินข้าวเป็นไหม” คำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่แฝงไปด้วยคติธรรมจากพระอาจารย์ ทำให้พระจิตร์ฉุกคิดว่า “เรากินข้าวเพราะกายหิวหรือใจอยาก”
- สิ่งต่างๆ รอบตัวที่สร้างความทุกข์ให้แก่เรา แท้จริงแล้วส่ิงเหล่านั้นสร้างความรำคาญและทำให้เราไม่พอใจจริงหรือ หรือหากแต่เป็นเพียงเสียงภายในหัวของเราเองที่ “กรีดร้อง” ต่อต้านสิ่งเหล่านั้น
- การปล่อยวางศักดิ์ศรี ละอัตตา ปล่อยวางความเป็นตัวเองจากความคิดตัดสินผู้อื่น ปล่อยวางจากความไม่พึงพอใจทั้งหลายที่เข้ามากระทบจิตใจเรา เป็นหนทางที่จะทำให้เราเห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริงได้ เพราะ “ศักดิ์ศรีเป็นคำที่เพราะกว่าของคำว่าอัตตา”
9. นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (เต๋อ)
ผู้กำกับที่บอกว่าตัวเองเป็นนักโกหก / จบ.
- ภาพนิ่งภาพเดียวกันแต่เขียนคำอธิบายภาพต่างกัน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคำอธิบายอันไหนไหนสื่อถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
- เต๋อสารภาพว่า “ผู้กำกับคือนักโกหกมืออาชีพ” บทบาทของผู้กำกับคือการทำให้คนดู “อิน” ไปกับภาพยนตร์ แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่นำเสนอออกมาได้ถูก “ตัดต่อ” ไปมากเท่าไร เช่นเดียวกับคลิปวิดีโอเรียลๆ ที่เราเห็นกันตามโลกโซเชียล เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเห็นมันเป็นจริง เพราะการนำเสนอนั้นเป็นเพียงแค่มุมหนึ่งของผู้ถ่าย ซึ่งอาจถูกจำกัดด้วยระยะเวลา และมุมมองส่วนตัวที่เลือกแค่บางส่วนมานำเสนอเท่านั้น
- หากเราเชื่อว่า “ความจริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้าน” แล้วเราจะเชื่อในสิ่งที่อยู่เห็นอยู่ตรงหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมันเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น
- สิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่เราถูกทำให้เชื่อ อาจจะจริงหรือไม่จริงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เหมือนกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันเรายอมรับว่าเป็นความ ตราบเท่าที่ยังไม่มีทฤษฎีใหม่ๆ เข้ามาลบล้าง
- หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะเลือกเชื่อสิ่งไหนดี? คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่กระตุ้นให้เราเสพสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ความจริง” อย่างมีสติ ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงหากมีสิ่งที่มันจริงกว่าเข้ามาแทนที่ เพราะโลกนี้ไม่มีความเป็นจริงที่สมบูรณ์
10. ผศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ (เชน)
วิศวกรชีวการแพทย์ที่ฝันจะยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์
- วิศวกรซ่อมมนุษย์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณป้าที่เป็นอัมพาตคนนี้ ได้สร้างห้องปฏิบัติการการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีที่จะมาใช้สร้างเครื่องมือมาช่วยเหลือผู้พิการ
- 15% ของประชากรโลกเป็นคนพิการ 190 ล้านคนเป็นคนพิการขั้นรุนแรง ความพิการไม่ได้เกิดจากโรคจากอย่างเดียว เกิดจากความโชคร้ายและอุบัติเหตุด้วย แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป
- สมองแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ในการรับข้อมูล วิเคราะห์ และสั่งการทำงาน ความถี่ของคลื่นไฟฟ้าสมองอยู่ในช่วง 0.5-40 Hz ความต่างศักย์ที่วัดได้อยู่ในระดับไมโครโวลต์ (ต่ำกว่าถ่านไฟฉายล้านเท่า) จึงตรวจจับได้ยาก เพราะฉะนั้นต้องขยายสัญญาณด้วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแปลงเป็นข้อมูลที่ถูกส่งผ่านออกมา
- อุปกรณ์ที่นำมาประดิษฐ์มีประกอบด้วย 3 สิ่งหลักคือ 1. ตัวรับสัญญาณ 2. คอมพิวเตอร์ และ 3. ตัวขยายสัญญาณ ซึ่งเราสามารถซื้ออุปกรณ์ง่ายๆ มาต่อและทำระบบ ใครๆ ก็สามารถทำได้
- กำลังใจสำคัญของอาจารย์มาจากคำพูดของคนพิการที่บอกกับอาจารย์ว่า “ถ้าไม่มีคนกล้าล้มเหลวเพื่อเขา ไม่มีคนบ้า ไม่มีคนที่กล้าเสี่ยงเพื่อเขา ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม”
- สิ่งประดิษฐ์ของอาจารย์เชนถูกนำมาใช้กับผู้พิการขั้นรุนแรงที่ขยับไม่ได้ตั้งแต่คอลงมา สั่งการสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น เปิดทีวี เปิดไฟ ป้อนข้าว ใช้คอมพิวเตอร์ขยับเคลื่อนรถเข็นไปในทิศทางที่ต้องการได้เพียงแค่การคิด และกรณีที่ชัดเจนคือการทำให้ผู้เป็นอัมพาตครึ่งตัวท่อนล่างกลับมาปั่นจักรยานได้อีกครั้ง และในอนาคตมีแผนที่จะประดิษฐ์สมองเทียมและสร้างผลงานวิจัยออกมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
11. RAP IS NOW
ส่งท้าย TEDxBangkok 2016 ด้วย MC King นิลโลหิต และ T.U.M. ที่จะมา RUN วงการกันบนเวทีสยามเคแบงก์พิฆเนศ
- ช่วงแรก แร็พเปอร์ทั้งสามยังคงร้องแร็พประกอบดนตรีดังที่ทุกคนคุ้นเคย ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงแร็พปากเปล่า
- การแร็พปากเปล่า ไร้เสียงใดๆ ประกอบจังหวะ มีแค่คอนเทนต์ของเนื้อแร็พที่ส่งมากระแทกให้ฉุกคิด ทำเอาคนทั้งโรงละครเงียบกริบและคิดตามเนื้อเพลงแร็พที่ร้องสอดถ้อยเข้ากันอย่างเป็นจังหวะจะโคน
- การสื่อสารข้อความชวนให้ฉุกคิดในสิ่งที่คุณคิดว่ามันไม่ดีหรือแย่ เช่น รถติดหรือเด็กแว้นที่สอดแทรกเข้ามาในเนื้อร้อง กำลังถามคุณกลับมาว่า คุณกำลังตัดสินในสิ่งเดิมๆ ด้วยมุมมองเดิมๆ อยู่หรือเปล่า
- การร้องเพลงแร็พที่คนทั่วไปอาจมองว่าหยาบคายราวกับเป็นการตะโกนกร้าวใส่กัน เป็นเพลงใต้ดิน หรือเป็นเพียงแค่สไตล์เพลงสนุกเอามัน แต่ถ้าลอง Unlearn และ Relearn ก็จะพบว่า แร็พเป็นเครื่องมือชั้นดีในการเข้าถึง “เสียง” ที่กู่ร้องออกมาจากกลุ่มคนที่อยู่ในอีกมุมเงียบๆ มุมหนึ่งของสังคม
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ Talk และ Performance ทั้งหมดใน TEDxBangkok 2016 ชอบไอเดียไหน ประทับใจการเรียนรู้จากใคร อินกับ Speaker ท่านไหนบ้าง อย่าลืมบอกเล่าเรื่องราวเพื่อแชร์ไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ต่อๆ ไปเรื่อยๆ
ส่วนใครที่ติดตามรอชมวิดีโอตัวเต็มอยู่ ก็รออีกอึดใจเดียวเท่านั้น!
จิรพร, จุฑามาส, เพ็ญจุรี, อัญชุรี : ช่วยกันเขียน