เรื่อง : สปัญญา ศรีสุข
ภาพ : ศุภโชค พิเชษฐ์กุล
เขาบอกให้ผู้ชมถอดรองเท้าชูขึ้นเหนือหัว แล้วก็ปาขึ้นมาบนเวที แล้วเขาจะนำรองเท้าคู่นั้นมาวางไว้บนหัวตัวเอง
ภาพที่ยากจะลืมสำหรับงาน TEDxBangkok 2015 และนั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลายคนรักเขา และอีกหลายคนเกลียดเขา
พิเชษฐ กลั่นชื่น เจ้าของทอล์คเรื่อง “ถอดความเทพพนม”
เวลาผ่านไปหนึ่งปีพอดี ก่อนจะเริ่มต้นงาน TEDxBangkok 2016 เราได้ไปพบกับพิเชษฐอีกครั้ง คราวนี้เราไม่ได้คุยกันเรื่องวัฒนธรรมและรองเท้าคู่นั้นแล้ว แต่เราชวนเขาคุยถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก TEDxBangkok ในปีนั้น เพื่อจะชักชวนเหล่า TEDster ให้มาร่วมกันตั้งคำถามกับสังคมไทย ในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
TEDxBangkok : จากที่ขึ้น TEDxBangkok 2015 ไป มาวันนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
พิเชษฐ : ผมคิดว่ามีคนหลากหลายกลุ่มที่รู้จักผมมากขึ้น มันขยายกลุ่มคนที่กว้างมาก ผมได้เจอคนที่ไม่น่าจะรู้จักผม แต่ก็รู้จัก เพราะเขาได้ดู TEDx
TEDxBangkok : คุณคิดว่าปัญหาเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อของสังคมไทย ที่คุณได้วิพากษ์วิจารณ์ในวันนั้น ได้รับการแก้ไขหรือมีความเปลี่ยนแปลงไปหรือยัง?
พิเชษฐ : ไม่มีทางหรอก (หัวเราะ) เพิ่งจะไม่กี่เดือนมานี้ ผมยังเจอปรากฏการณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมเรื่องเดิมๆ จนต้องเอาคลิปนั้นกลับมาโพสต์อีกรอบอยู่เลย ผมยังคงยืนยันตามเดิมว่า เรามีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมกับความเชื่อ ซึ่งเรื่องที่ผมพูด มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใน 1-2 ปีหรอก มันเป็นเรื่องทัศนคติ เป็นเรื่องความเชื่อที่จับต้องไม่ได้ บางทีต้องใช้เวลานานกว่านั้นเพื่อเปลี่ยน แล้วใช้เวลาอีก 5-10 ปี เพื่อเห็นว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ผมได้พูดมันออกไปแล้ว และมีคนเยอะมากได้ฉุกคิด หรือรู้สึกว่าน่าสนใจ ผมว่าแค่นี้มันกระตุ้นเตือนพอแล้ว สำหรับผม ผมพอใจในเรื่องนี้มาก
TEDxBangkok : ได้ยินว่ามีหลายคนที่ไม่พอใจ ที่คุณเอารองเท้าไปไว้บนหัวด้วย
พิเชษฐ : มันก็ต้องมีแหละ คนที่เป็นอนุรักษ์นิยม เราเปลี่ยนเขาไม่ได้หรอก แล้วผมก็ไม่ได้สนใจคนที่มีความคิดแบบนี้ด้วย คนที่เขาเชื่อว่ารองเท้าเป็นของต่ำ พอเขาเห็น เขาก็คงโกรธ ซึ่งงานของผมในวันนั้น ได้แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน และทำให้คนสองกลุ่มนี้ตั้งคำถามกับตัวเอง หรือเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กัน
ผมได้เอาเรื่องนี้ไปพูดอีกครั้งด้วยนะ แต่ว่าสั้นกว่า ผมไปพูดที่ไต้หวัน ที่นั่นก็มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมกับรองเท้าเหมือนกับบ้านเราเลย คราวนี้ผมเอารองเท้าผู้หญิงของคนดูมาวางไว้บนหัว แล้วหลังจากนั้นผมพูดเรื่องการเต้นต่อ โดยที่มีรองเท้าวางอยู่บนหัวตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่คนไต้หวันไม่ได้ฮือฮาเท่าคนไทยนะ
TEDxBangkok : ในงาน TEDxBangkok 2015 จำได้ว่าคุณไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงหลังเลิกงาน เพราะอะไร?
พิเชษฐ : ในวันนั้น ผมรับรู้ได้เลยว่าสิ่งที่พูดไป มันได้รับการตอบรับดีมาก ทุกคนชูรองเท้าขึ้นทั้งฮอลล์ แม้กระทั่งทุกวันนี้ คนก็ยังพูดถึงรองเท้า แต่ลืมเรื่องรำไปแล้ว (หัวเราะ) ผมได้รับพลังการยอมรับมโหฬารมาก จนรู้สึกว่านี่มันอันตรายกับผม ถ้าผมไปงานเลี้ยงต่ออีก มันคงจะถูกพูดซ้ำๆ และมันจะทำให้ผมหลงตัวเอง ผมจึงขอปฏิเสธที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่คนเยอะๆ หลังงาน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมปฏิเสธหรอกนะ ทุกครั้งที่ผมเปิดการแสดง ถ้าผมปฏิเสธการออกไปเจอผู้คนหลังการแสดงได้ ผมก็จะทำ ผมอยากจะอยู่นิ่งๆ เพื่อที่จะเอาทุกอย่างออกไปให้หมด
TEDxBangkok : คุณหมายความว่าอย่างไร การเอาทุกอย่างออกไป ?
พิเชษฐ : มันคือสภาวะของอารมณ์ที่เข้ามาบรรจุ หรือปะทะอยู่ในความทรงจำของเรา ผมต้องทำให้ตัวเองกลับไปสะอาดอีกครั้ง โดยการใช้วิธีอยู่คนเดียว อยู่นิ่งๆ แล้วเอาอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกไป พอเสร็จแล้ว จึงค่อยย้อนกลับไปเจอผู้คนที่ชื่นชมเราอีก ซึ่งตอนนั้นเราก็จะไม่รู้สึกหลงตัวเองเท่าเดิมแล้ว ทุกวันนี้ ผมก็ยังย้อนกลับไปดูคลิปนั้นอีกหลายครั้ง แต่ดูเพื่อพิจารณาว่าทำไมคนถึงชอบ ความน่าสนใจมันอยู่ตรงไหน ผมกลับไปตั้งคำถามกับมัน มากกว่ากลับไปชื่นชมตัวเอง เพราะถ้ามัวแต่ชื่นชมตัวเอง ผมก็จะพลาด
TEDxBangkok : ถ้าให้คุณขึ้นไปพูด TEDxBangkok อีกครั้ง คุณจะพูดเรื่องอะไร
พิเชษฐ : (คิดอยู่สักพัก) ผมอยากจะพูดเรื่องว่าทำไมคนเราถึงต้องฝึกฝน ปัญหาทุกวันนี้ คือเด็กไม่ฝึกฝน เขาไม่ทำสิ่งต่างๆ หรือเรียนรู้กับสิ่งเดิมอย่างต่อเนื่อง เขาไม่ยอมทำความเข้าใจกับสิ่งเดิมเพื่อมองเห็นสิ่งใหม่ สมัยนี้ชอบแล้วก็ทำเลย แล้วก็คิดว่าจะต้องประสบความสำเร็จเลย เพราะตัวอย่างที่ได้จากสังคมมันเป็นแบบนั้น
คนๆ หนึ่งไปออกรายการทีวีประเภทการประกวดความสามารถ ผ่านไปอีกวันหนึ่ง เขาก็กลายเป็นดาราเลย มันเร็วมาก โดยที่คนรุ่นใหม่ ไม่ได้คิดว่าเขาอาจจะฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่องที่บ้านก่อนหน้านี้แล้ว และอีกอย่างหนึ่ง ในทุกวันนี้ เริ่มมีวิธีประหลาดๆ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องฝึกฝน เช่น ไปทำอะไรบ้าๆ บอๆ ลงในยูทูบ โชว์เนินอก หรือตบกับคนอื่น แล้วสุดท้ายได้ล้านวิวส์
ผมว่ามันแปลกตรงที่คลิปแบบนั้นได้รับผลตอบรับดีมาก แสดงว่าทัศนคติของคนในสังคมกำลังเปลี่ยนไป คนเริ่มไม่สนใจแล้วว่าจะโป๊ ไม่โป๊ ไม่ได้สนใจว่าคนจะลงคลิปตบกันให้ดูทำไม แต่มันสนุก มันกระตุ้นความรู้สึกอะไรบางอย่าง นี่คือสิ่งที่จะบอกเราแล้วว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เด็กจะเลียนแบบสิ่งนี้ต่อไปในวันข้างหน้า
คนรุ่นนี้จะฉาบฉวย สมาธิสั้น ไม่มีความเชื่อและความศรัทธาในตัวเอง ไม่มีความคิดของตัวเองอีกต่อไป เขาจะไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าเขาเป็นใคร ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นความผิดของเด็กๆ มันเป็นรูปแบบการดำเนินไปของสังคม ในอนาคต เด็กจะบอกไม่ได้ว่าเขาชอบอะไร อยากกินอะไร แต่เขาจะกินอย่างที่คนอื่นอยากให้กิน หรือเป็นที่นิยมของคนอื่น เด็กจะไม่มีร้านอาหารประจำ เขาจะเปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ ตามรีวิวว่าที่นี่อร่อย ที่นี่ลดราคา
ระบบเศรษฐกิจ ลัทธิบริโภคนิยม นักโฆษณา นักการตลาด กำลังใส่ข้อมูล ใส่โปรแกรมให้เรา พวกเขาพยายามทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าเมื่อไรที่เราเป็นตัวของตัวเองและมีสติ เราจะไม่ซื้อของพวกนี้หรอก เราจะซื้อเท่าที่จำเป็น หรือซื้อแค่สิ่งที่เหมาะกับตัวเรา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากของสังคม เราต้องตั้งสติและรู้เท่าทันให้ได้
TEDxBangkok : กว่าจะมาเป็นพิเชษฐ กลั่นชื่นในวันนี้ คุณผ่านการฝึกฝนอะไรมาบ้าง?
พิเชษฐ : ผมเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวแบบนี้คืออะไร คนบอกว่านี่คือรำไทย แต่ผมไม่รู้ว่าจริงๆ รำไทยคืออะไร มันเป็นแค่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาเฉยๆ ผมจึงต้องตั้งคำถามต่อไปอีก ว่าถ้าแค่เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายล่ะ ตัดเสื้อผ้า ตัดเพลงออกไป ผมจะนิยามคำนี้ว่าอย่างไร รำไทยเป็นชื่อคำที่เรียกทั้งหมด
ผมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับร่างกาย เพื่อทำความเข้าใจมันใหม่อีกครั้งหนึ่ง พอเริ่มฝึกไปเรื่อยๆ ก็เริ่มสัมผัสได้ว่ามันมีกระบวนการทางความคิดอยู่ในร่างกายด้วย ความคิดเป็นของเรา เราไม่เคยเห็นหรอก และเราไม่เคยอยู่เหนือมันได้เลย ผมฝึกจนผมสามารถรับรู้ถึงความคิดได้ ผมเห็นมันเกิดขึ้น พัฒนาต่อ เปลี่ยนสภาพ ผมรู้ว่าอันนี้กำลังคิดฟุ้งซ่าน อันนี้คิดไปเอง
หลังจากนั้น ก็จะเห็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ พอได้ 3 สิ่งนี้ ร่างกาย ความคิด ธรรมชาติ ผมก็จะเริ่มมีสติ และเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มเห็นว่าจะสร้างงานต่อยังไง จะรำในแบบตัวเองอย่างไร จะสื่อสารอะไรกับคนดู จะบอกอะไรกับสังคม เป็นลำดับขั้นไปเรื่อยๆ เมื่อไรที่เรานิ่ง เราจะรับรู้ แล้วเราจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ผมใช้คำว่า การแยกตัวเราออกจากสิ่งข้างนอก ไม่ไปเป็นส่วนเดียวกับมัน เพราะไม่อย่างนั้น เราจะมองไม่เห็น
ถ้าคนที่ไม่ฝึกฝน เขาจะลงไปคลุกกับสิ่งนั้น ผมยกตัวอย่าง มีผู้ชายสองคนต่อยกัน ถ้าเราไม่ฝึกฝน เราจะไปต่อยกับเขา แต่ถ้าเราฝึกฝน เราจะถอยออกมาดูว่าเขาต่อยกันยังไง แล้วเราจะบอกตัวเองได้ ว่าเราจะไปต่อยกับเขาไหม หรือถ้าจะไปต่อย เราจะต่อยยังไงให้ชนะ
TEDxBangkok : ในการฝึกฝนของคุณ มันทำให้คุณยืนหยัดกับความเชื่อ หรือว่าทำให้คุณเปลี่ยนความเชื่อไปจากเดิม
พิเชษฐ : คือมันไม่ได้เปลี่ยนความเชื่อเราหรอก ผมเริ่มต้นจากความเชื่ออยู่แล้ว ว่ามันมีสิ่งนั้นจริงๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เมื่อฝึกฝนลงมือทำไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างเช่น เราไม่เคยเห็นว่าน้ำหนักหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเห็นว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้คือเบา แบบนี้คือแรง อ๋อ อันนี้นี่เองที่เรียกว่าน้ำหนัก มันเป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เรารับรู้จากเพียงแค่ภาษา ที่บอกว่าอะไรคือน้ำหนัก แต่ถ้าเราได้ฝึกฝนอย่างหนัก ได้ลงมือทำจริงๆ เราจะรู้สึกถึงสิ่งนั้นได้จริงๆ
TEDxBangkok : แล้วสำหรับคนทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นศิลปินแบบคุณ เขาจะฝึกฝนในเรื่องอะไร และฝึกฝนตัวเองอย่างไร
พิเชษฐ : มีหลายวิธี ฝึกคิด ฝึกพูด ฝึกทำ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน ฝึกมอง ฝึกพิจารณา ไม่จำเป็นต้องฝึกการเต้นแบบผม ในฐานะของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เรามีเรื่องให้ฝึกฝนตลอดอยู่แล้ว แต่ขั้นตอนที่เราพลาดไป คือเราทำมันโดยไม่ตั้งคำถาม ผมถึงบอกให้เราต้องแยกตัวออกมา แล้วเฝ้ามองสิ่งที่เรากำลังทำ
วินมอเตอร์ไซค์ ก็กำลังฝึกฝนการขี่มอเตอร์ไซค์ ถ้าเขาตั้งคำถามกับตัวเองสักนิด ว่าทำอย่างไร จึงจะหลบหลีกช่องแคบๆ เขาจะค้นพบคำตอบที่เป็นองค์ความรู้ได้ทันที แต่บางคนพอหลบหลีกได้แล้ว ก็ไม่ได้ฉุกคิดอะไรต่อ มัวแต่คิดว่า เฮ้ย ฉันเก่ง เมื่อไรที่คุณบอกว่าตัวเองเก่งแล้ว เมื่อนั้นคือเรื่องน่ากลัว เพราะคุณกำลังสร้างอัตตาหรือตัวตนให้มากขึ้น คุณจะยิ่งมองไม่เห็น
ทำอะไรก็แล้วแต่ ให้เริ่มด้วยการตั้งคำถาม แล้วแยกตัวเองออกมา เพื่อเฝ้ามองสิ่งที่ตัวเองทำได้ ทุกคนสามารถเป็นศิลปินหมด ทุกคนจะเป็นคนที่รู้เท่าทัน อย่ามัวใช้ชีวิตไปแบบเฉยๆ
TEDxBangkok : เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นถูกต้องแล้ว
พิเชษฐ : เราจะรู้เอง เราจะได้รับรู้ถึงอะไรบางอย่าง จากการทำซ้ำไปเรื่อยๆ มันจะตอบโจทย์ที่เราตั้งคำถามไว้เอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องฝึกฝน
กว่าจะเป็น พิเชษฐ กลั่นชื่น ในทุกวันนี้ เขาผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
สำหรับ TEDxBangkok เราเชื่อว่าการฝึกฝน ก็คือกระบวนการของการ LEARN – เรียนรู้สิ่งใหม่, UNLEARN – ฝึกฝนและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียนรู้นั้น, RELEARN – มองเห็นสิ่งใหม่จากสิ่งเดิม
เหมือนอย่างที่พิเชษฐสอน การเป็นตัวของตัวเอง มีสติ ตั้งคำถาม เอาตัวเองออกมาจากสิ่งนั้น แล้วฝึกฝนวนซ้ำไปเรื่อยๆ
นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะแนะนำให้ TEDster ทุกคน
แล้วตัวคุณล่ะ คุณกำลังฝึกฝนเรื่องอะไร ?
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=PoautAigKP8[/embedyt]