เรื่อง: ปิยวรรณ เฉลิมฉัตรวณิช / พิสูจน์อักษร: ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์ / กราฟิก : หัฎฐกาญจน์ เลิศยงผาติ
ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ทุกคนต้องเผชิญนั้น ต่างเกิดเหตุการณ์มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลายอย่างในสังคมที่เราอาจมองข้ามไป
ในขณะที่ทุกคนกำลังก้าวเข้าสู่ New normal ของการใช้ชีวิตตามมาตรการของรัฐ เพื่อรับมือกับภาวะโรคระบาดนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนไม่น้อย นับตั้งแต่วิถีการเรียนการทำงานที่เปลี่ยนไป ช่องทางการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ ข่าวการตกงาน ว่างงาน ปิดกิจการ คนฆ่าตัวตาย ที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่าง ๆ หรือแม้แต่เรื่องราวพร่ำบ่นผ่านสเตตัสของคนรอบตัวในสื่อโซเชียล ก็พอทำให้เห็นบ้างแล้วว่า การเมือง…เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตของเรา
TEDxBangkok ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และหัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยเรื่องมาตรการและการบริหารจัดการของรัฐภายใต้ภาวะโควิด ซึ่งช่วยเปิดโลกและทำให้เข้าใจเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในแง่ของการเมืองมากยิ่งขึ้น
มาดูกันว่า ปรากฏการณ์ความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา คนรอบข้าง และสังคม ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการของรัฐอย่างไร และสะท้อนให้เห็น “ความจริง” อะไรบ้างในสังคมนี้
TEDxBangkok: COVID-19 ทำให้เห็นผลกระทบอะไรใหม่ ๆ ในสังคมที่ไม่ค่อยได้เห็นในเหตุการณ์ปกติบ้าง
อ.ประจักษ์: อย่างหนึ่งที่เห็นคือ สังคมไทยในแง่ของการช่วยเหลือกัน ภาคประชาสังคมยังมีความเข้มแข็งอยู่ ก่อนหน้านี้ เคยมีการถกเถียงในกลุ่มผู้สนใจด้านรัฐศาสตร์ว่าในสังคมจะมีตัวละครอยู่ 3 กลุ่ม คือ รัฐ เอกชนหรือที่เรียกว่าตลาด และภาคสังคม โดยเรามักให้ความสำคัญไปที่รัฐกับเอกชนในการขับเคลื่อนสังคม และมองประชาชนเป็นผู้รับ คอยรับบริการจากเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐอีกที แต่ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเครือข่ายและพลังทางสังคมมีความสําคัญมากและช่วยเยียวยาผู้คนในภาวะวิกฤต เราเห็นวัดกลับมาทำหน้าที่ มีโรงทาน แจกอาหาร เราเห็นกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมาตั้งเพจฝากร้าน สิ่งเหล่านี้คือเครือข่ายทางสังคม ไม่ใช่ธุรกิจเอกชนที่มาหากำไร แต่คนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง ซึ่งเป็นมิติที่ดีที่สวยงาม ทำให้เห็นว่าพลังทางสังคมไม่ได้หมดไป เพียงแต่เราละเลย ไม่ได้เพ่งมอง หรือให้ความสำคัญกับมันต่างหาก
เราต้องคิดต่อว่าจะใช้พลังทางสังคมต่อไปอย่างไรหลังจากนี้ โดยไม่ให้มันหายไปพร้อมกับวิกฤต คำว่า “Social Network” มักถูกใช้กับโลกออนไลน์ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว Social Network ในโลกออฟไลน์นั้นมีพลังมาก
TEDxBangkok: การช่วยเหลือระหว่างประชาชนด้วยกันเองนั้น ทั้งตั้งรับบริจาคเงินหรือแจกจ่ายอาหารในพื้นที่ต่าง ๆ สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการจัดการของภาครัฐอย่างไร ทำไมคนไทยต้องช่วยเหลือกันเองเสมอ
อ.ประจักษ์: ส่วนหนึ่งที่ภาคประชาสังคมต้องออกมาช่วยเหลือกันมาก ก็สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ หากกล่าวถึงเฉพาะมิติการเยียวยา ไม่พูดถึงการควบคุมโรคนั้น ก็ถือว่ารัฐมีการเยียวยาที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง ทำให้เครือข่ายทางสังคมได้เข้ามามีบทบาททดแทน มีคนช่วยเหลือกันในยามยาก ในขณะที่ตลาดหรือเอกชนมุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลัก ทำให้ยากที่จะออกมาช่วยเหลือได้เต็มที่ ส่วนพลังทางสังคมที่ได้แสดงน้ำใจซึ่งกันและกันนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสังคมที่รัฐมีประสิทธิภาพและระบบสวัสดิการทางสังคมเข้มแข็งนั้น การกุศลไม่จำเป็นต้องมีเยอะ และการกุศลหรือ Charity ไม่อาจทดแทนและไม่ควรทดแทนระบบสวัสดิการทางสังคมและรัฐที่มีประสิทธิภาพ เพราะมันไม่ใช่คำตอบระยะยาวและยั่งยืน มีนักคิดคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “การกุศลที่ยั่งยืนที่สุดคือการสร้างสวัสดิการทางสังคมที่ดี”
ทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลตัวเอง การถูกกดดันให้ออกมาเรียกร้องในสังคม ให้ออกมาช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องที่ไม่แฟร์นัก เพราะถ้าไม่ช่วยก็อาจทำให้รู้สึกผิด ใครช่วยมากกว่ากัน น้อยกว่ากัน หรือถ้าช่วยแล้ว ก็อาจคิดว่าทำไมยังมาขโมยของกันอีก กลายเป็นดรามาตามมาไม่สิ้นสุด ประชาชนมาทะเลาะกันเอง
TEDxBangkok: อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างประเทศที่รัฐสามารถวางแผนและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง
อ.ประจักษ์: จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเทศที่โดดเด่นขึ้นมาคือประเทศขนาดกลาง ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาต่างล้มเหลวทั้งคู่ จีนล้มเหลวในแง่ของการปกปิดและเซ็นเซอร์ข้อมูล ส่วนสหรัฐฯ ล้มเหลวในแง่ของความล่าช้าและการตัดสินใจที่ไม่เป็นเอกภาพ ประเทศที่เป็นโมเดลกลับกลายเป็นเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์ ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในแง่ของการสร้างสมดุลการควบคุมโรค ซึ่งทำได้ดี มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่เยอะ ส่วนการควบคุมผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจก็ไม่หนักหน่วงรุนแรง
ในประเทศไทย ถือว่าเสียมิติความสมดุลเพราะรัฐจัดการควบคุมโรคและการระบาดของโรคได้ มีผู้ติดเชื้อน้อย แต่ต้องดูด้วยว่าเมื่อแก้ปัญหาจุดนี้ได้ ยังมีปัญหาเกิดจุดไหนอีกบ้าง ซึ่งปัญหาที่ว่านั้นก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ คนตกงาน ว่างงาน ปัญหาสุขภาพจิต และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
TEDxBangkok: อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถจัดการได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ
อ.ประจักษ์: โดยสรุปแล้ว มีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน ไม่ใช่แค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่ประเทศหนึ่งจะรับมือได้ดี การรับมือได้ดีนั้นไม่ได้ดูแค่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องดูเรื่องผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยว่ารัฐรับมือได้อย่างไร
ส่วนองค์ประกอบสำคัญที่ประเทศเหล่านั้นมี อย่างแรก ก็คือมี Infrastructure ทางการเมือง หรือพื้นฐานทางการเมืองที่ดี สอง มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่ดี สาม มีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ดี ถ้ามี 3 อย่างนี้ประกอบกันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะเหตุการณ์นี้ถือเป็นวิกฤตใหญ่และหนัก องค์ประกอบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถช่วยให้รับมือได้ทั้งหมด
เริ่มจากโครงสร้างทางสังคมที่ดีคือ มีการช่วยเหลือและไว้วางใจกัน รวมถึงไว้วางใจรัฐ อันนำไปสู่ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ต่อมาโครงสร้างสาธารณสุขที่ดี หมายถึงการมีระบบสาธารณสุขดี เข้มแข็ง และมีศักยภาพ มีงบประมาณสูง บุคลากรได้รับการดูแล ซึ่งไทยก็ถือว่าทำส่วนนี้ได้ดีเช่นกัน เห็นได้จากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่วางระบบรากฐานมายาวนาน ในขณะเดียวกัน หลายคนก็ตั้งคำถามว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงล้มเหลว นั่นก็เพราะมีการตัดทอนงบประมาณและขาดสวัสดิการพื้นฐานทางสาธารณสุข ระบบโรงพยาบาลและการรักษาเป็นของเอกชนทั้งหมด ไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตสุขภาพขึ้นมา คนจน คนกลุ่มน้อย จึงได้รับผลกระทบก่อน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้
ผู้นำถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่สำคัญ สมมติว่าประเทศหนึ่งมีระบบราชการที่ดีมีศักยภาพ มีระบอบการเมืองที่ใช้ได้ แต่มีผู้นำแย่ ก็ทำให้เกิดปัญหามากมายได้
องค์ประกอบสุดท้ายคือ โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่ดี ซึ่งต้องใช้คำนี้ ไม่ใช้แค่ระบอบทางการเมืองอย่างเดียว เพราะหากกล่าวว่า “ระบอบการเมือง” เราจะมุ่งเพียงว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ซึ่งนำไปสู่ประเด็นถกเถียงว่าประเทศประชาธิปไตยหรือประเทศเผด็จการรับมือได้ดีกว่ากัน ก็จะเถียงกันไม่มีวันจบและไม่มีประโยชน์ เพราะการรับมือได้ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การเมือง แต่ต้องดูปัจจัยด้านสาธารณสุขและสังคมด้วย
เเละเมื่อดูปัจจัยด้านการเมืองจะดูระบอบอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องดูว่าระบบราชการเข้มแข็งหรือไม่ และผู้นำเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งผู้นำถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่สำคัญ สมมติว่าประเทศหนึ่งมีระบบราชการที่ดีมีศักยภาพ มีระบอบการเมืองที่ใช้ได้ แต่มีผู้นำแย่ ก็ทำให้เกิดปัญหามากมายได้
อเมริกาเป็นตัวอย่างของ Bad Leadership ระบบราชการของสหรัฐฯ เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีการกระจายอำนาจให้มลรัฐต่าง ๆ แต่แค่มีผู้นำที่ไม่ดีก็ก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล ตอนนี้มีบทความบทวิเคราะห์จำนวนมากที่พูดถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ กล่าวว่านี่ไม่ใช่ความล้มเหลวของประชาธิปไตย แต่เป็นความล้มเหลวของประชาธิปไตยภายใต้การนำของคนอย่างทรัมป์ นอกจากนี้ ยังมี Bad Leadership อีกหลายประเทศ สิ่งที่น่าสนใจก็คือแบบผู้นำที่ล้มเหลวในครั้งนี้เป็นผู้นำแนวเข้มแข็ง เด็ดขาด หรือที่เรียกว่า Strong Man ซึ่งเป็นเทรนด์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กระแสผู้นำลักษณะนี้มักเป็นผู้ชาย ขายความเป็นชาตินิยม ผู้ปกป้อง ใช้วาจาดุเดือด ก้าวร้าว ไม่กลัวใคร แต่กลับล้มเหลวในสถานการณ์ COVID-19 ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้ กลายเป็นว่าประเทศที่มีผู้นำหญิงกลับโดดเด่นขึ้นมาและทำผลงานได้ดีกว่าในภาพรวม
TEDxBangkok: ทำไมเทรนด์ผู้นำแบบ Strong Man ถึงกลับมา แล้วหลังผ่านวิกฤตนี้เทรนด์ผู้นำแบบนี้จะยังคงอยู่หรือไม่
อ.ประจักษ์: ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง อย่างภัยก่อการร้าย วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรปตอนปี 2008 ปัญหาผู้อพยพ และวิกฤตสงครามในตะวันออกกลาง เมื่อคนรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง เกิดการเปลี่ยนแปลง และได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต หรือที่เรียกว่าภาวะ Insecurity ก็เลยโหยหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจ ผู้นำลักษณะ Strong Man จึงถูกนำเสนอเข้ามาเพื่อตอบโจทย์ภาวะความไม่มั่นคงในจิตใจของคน และกลายเป็นเทรนด์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมาพร้อมกระแสชาตินิยม รวม ๆ เลยเรียกว่า ผู้นำประชานิยมแบบฝั่งขวา หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า The Protector ที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครอง ปกป้อง และแก้ปัญหา
แต่เมื่อถึงคราวภาวะ COVID-19 นี่ถือเป็นบททดสอบสำคัญ เพราะผู้นำแบบนี้กลับสอบตกในบททดสอบนี้ ในขณะที่ผู้นำผู้หญิงอย่างผู้นำประเทศนิวซีแลนด์หรือไต้หวัน กลับปกป้องและทำหน้าที่ได้ดีกว่า ทำให้คนกลับมาทบทวนว่าผู้นำที่ดีคืออะไร ผู้นำหญิงเหล่านี้ทำให้เกิดโมเดลใหม่ขึ้นมา เรียกว่า Lead by Empathy สิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จก็เพราะผู้นำแบบนี้มีความเห็นอกเห็นใจ สามารถเข้าใจความทุกข์ ความเดือดร้อน ของประชาชน ซึ่งเป็นการปกป้องแบบแม่ เป็นการปกป้องที่แสดงถึงความเป็นห่วงและใส่ใจ
การสื่อสารของผู้นำในยามวิกฤตก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำหญิงทำสิ่งนี้ได้ดี มีการสื่อสารที่เป็นกันเอง เป็นธรรมชาติ เช่น การใช้ Facebook สื่อสารกับประชาชน หรือการแต่งตัวอยู่บ้านเหมือนประชาชนทั่วไป เพื่อสื่อให้เห็นว่าฉันก็เป็นแบบคุณ ไม่ได้สื่อสารด้วยภาษาที่เป็นทางการหรือให้ความรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกว่า รวมทั้งยังมีความโปร่งใสและใช้ความจริง ยกตัวอย่าง ผู้นำเยอรมันที่สื่อสารชัดเจนเลยว่าจะมีการติดเชื้อมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็บอกไม่ให้ประชาชนวิตกกังวลรวมทั้งจะใช้กลไกทุกอย่างที่มีของรัฐ เพื่อรักษาและปกป้องพวกเขา นี่ถือเป็นการสื่อสารที่ใช้ข้อเท็จจริง โปร่งใส ตรงไปตรงมา ทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับผู้นำ และเมื่อเกิดความไว้วางใจแล้ว ก็ทำให้ง่ายต่อการขอความร่วมมือกับประชาชน
คนที่เขาต้องฟังหรือเป็นเจ้านายของเขาคือประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา การจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับประชาชน การกระจายอำนาจที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่กระจายงบประมาณ แต่รวมถึงอำนาจการตัดสินใจและการขึ้นสู่อำนาจ คนที่จะขึ้นหรือลงสู่อำนาจนั้นต้องขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่นั้น
TEDxBangkok: จากกรณีผู้ว่าฯ ที่ทำผลงานได้ดีในการรับมือกับเหตุการณ์ครั้งนี้ หลายคนมองว่านี่คือการกระจายอำนาจ ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ เหล่านี้ก็มาจากส่วนกลาง อย่างนี้ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจทางรัฐศาสตร์หรือไม่
อ.ประจักษ์: จากกรณีนี้ ผู้ว่าราชการเป็นเพียงการถ่ายโอนอำนาจ ยังไม่ใช่การกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจจะให้อิสระในการตัดสินใจ ให้งบประมาณ บุคลากรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ทำงานตอบสนองประชาชนในพื้นที่โดยตรง คนที่เขาต้องฟังหรือเป็นเจ้านายของเขาคือประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา การจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับประชาชน การกระจายอำนาจที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่กระจายงบประมาณ แต่รวมถึงอำนาจการตัดสินใจและการขึ้นสู่อำนาจ คนที่จะขึ้นหรือลงสู่อำนาจนั้นต้องขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ ยังส่งผลให้ผู้รับตำแหน่งสามารถตัดสินใจทำงานได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องขึ้นกับความชอบใจของส่วนกลาง
ปัจจุบันผู้ว่าราชการทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่ได้รับอภิสิทธิ์ให้เลือกตั้งได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเพราะอยู่ในภาวะยกเว้น ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันจึงมาจากมาตรา 44 เราจึงไม่มีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเลย แต่ผู้ว่าเหล่านั้นคือ “แขนขา” ของข้าราชการส่วนภูมิภาค ไม่ใช่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ข้าราชการส่วนภูมิภาคก็คือคนจากส่วนกลางที่ไปใช้อำนาจนั้นในท้องถิ่น แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่น การใช้อำนาจของผู้ว่าฯ ในปัจจุบันจึงไม่ใช่การใช้อํานาจแบบการกระจายอำนาจ แต่เป็นการมอบหมายหน้าที่ให้ไปทำ
ฉะนั้น ภายใต้ภาวะวิกฤตนี้ รัฐจึงต้องจำยอมให้การตัดสินใจบางอย่างไปอยู่ที่ผู้ว่าฯ เพราะส่วนกลางไม่รู้ถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ทั้งหมด หากเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง ลองนึกดูว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากท้องถิ่น เป็นคนท้องถิ่น เกิดและเติบโตที่นั่น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีงบประมาณมากขึ้น มีบุคลากรมากขึ้น ภาษีที่เก็บได้จากท้องถิ่นใช้ภายในท้องถิ่นนั้นเอง ท้องถิ่นก็จะยิ่งแข็งแรง และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีมากกว่านี้
TEDxBangkok: การจัดตั้ง ศบค. ขึ้นมา หรือใช้มาตรการฉุกเฉินทำให้จัดการรับมือปัญหาได้ดีกว่า (ในแง่การควบคุมโรค) เมื่อเทียบกับการทำงานจากตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยคนอาจเห็นว่าการทำงานของคนกลุ่มหลังไม่เห็นจะดีเลย อาจารย์คิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร
อ.ประจักษ์: หากดูประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จ จะเห็นว่าประเทศเหล่านั้นไม่ต้องใช้มาตรการหรือกฎหมายฉุกเฉินมารับมือเสมอไป หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่ต้อง Lock down เข้มข้นเสมอไป ดังนั้น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปในการแก้ปัญหา หากเรามีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีความไว้วางใจสูงระหว่างประชาชน รัฐบาล และผู้นำ ก็ไม่ต้องใช้มาตรการฉุกเฉิน เพราะประชาชนจะให้ความร่วมมือเอง
คราวนี้ ทำไมประเทศไทยถึงใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก่อนการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นั้น สถานการณ์ควบคุมจัดการได้ยากมาก ไม่รู้ว่าศูนย์บัญชาการอยู่ไหน แต่ละกระทรวงต่างทำงานของตัวเอง นักข่าวไม่รู้ว่าต้องตามการแถลงข่าวอย่างไร ก่อให้เกิดความสับสน
ในแง่นี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จะดึงอำนาจจากพรรคการเมืองอื่นและกระทรวงทั้งหลายที่อยู่ต่างพรรคให้มาอยู่ภายใต้นายกคนเดียว กลับไปใช้อำนาจเหมือนตอนเป็นหัวหน้า คสช. อีกครั้งนั่นเอง สะท้อนว่าที่ต้องใช้อำนาจเข้มข้นขนาดนี้ โดยรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ที่ตัวเอง เพราะบริหารจัดการความขัดแย้งและความไม่เป็นเอกภาพในรัฐเองไม่ได้ จึงต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หากรัฐมีเอกภาพก็ไม่ต้องใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เพราะกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนน้อยมาก เป็นการจัดอำนาจกันเองในหมู่ผู้มีอำนาจมากกว่า
แถมส่วนที่นำมาใช้กับประชาชนนั้น ก็ไม่ได้ควบคุมโรคโดยตรงทั้งหมด หลายเรื่องนำมาใช้จำกัดการแสดงสิทธิเสรีภาพ การพูดถึงปัญหา ยกตัวอย่างกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกร้องเรื่องค่าเทอม กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุม ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในการนำมาควบคุมโรค แต่นำมาใช้ควบคุมคนแทน หรือกรณีคนบริจาคอาหารก็ผิดอีก ตำรวจบอกว่าทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค ส่วนที่นำไปใช้กับภาคสังคมหรือประชาชนไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมโรคโดยตรง แต่ใช้ปิดกั้นพวกเขาในการช่วยเหลือกันเอง แทนที่รัฐจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายและถูกวิธีมากขึ้น
TEDxBangkok: การบังคับใช้มาตรการของรัฐบาลอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะส่งผลอย่างไรในระยะยาว
อ.ประจักษ์: หลังหมดโควิด อาจกลับไปมีสภาพคล้ายกับตอนก่อนเกิดโควิด ก็คือเรื่องความชอบธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยยังแตกเป็นสองขั้ว ยังแบ่งแยกกันอยู่ ทำให้บริหารประเทศได้ยากภายใต้สภาวะแบบนี้ รัฐประสบความสำเร็จด้านการควบคุมโรค แต่ล้มเหลวในเรื่องการบรรเทาทางเศรษฐกิจและทางสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาระยะยาว อย่างเรื่องการตกงานที่บางคนบอกว่าจะส่งผลไปอีก 5-6 ปี ถ้าเป็นที่ต่างประเทศ ก็จะใหญ่กว่า Great Depression ยุค 1930 ส่วนของไทยเอง นักเศรษฐศาสตร์ออกมาบอกว่าจะร้ายแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ฉะนั้น จะมีคนได้รับผลกระทบมาก
วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่จะสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองสูงไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม อย่างของไทยตอนเกิดวิกฤตปี 40 ก็นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และโครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่ หรืออย่างอินโดนีเซีย ตอนเกิดวิกฤตปี 40 ระบอบซูฮาร์โตก็ล่มสลาย เปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย และมีอีกหลาย ๆ ประเทศที่เป็นเช่นนี้ ยิ่งหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจบวกกับปัญหาความคับข้องใจทางสังคม ปัญหาที่คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแลด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นโจทย์ที่หนักสำหรับรัฐบาล เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ เราไม่ควรรู้สึกดีกับการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือ 2 คนต่อวัน หรือกระทั่งเหลือ 0 คนต่อวันหากมาตรการนี้นำไปสู่การตกงานหรือความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในระยะยาว เพราะคนจน คนชนชั้นล่างยังไม่สามารถกลับไปทำงานตามปกติได้ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นจะนำไปสู่ปัญหาช่องว่างทางสังคมมากขึ้นจนทำให้ผลกระทบด้านลบมากกว่าผลกระทบด้านบวกอย่างการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้
ถ้าถามว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป การเมืองหลังโควิดจะเป็นการเมืองที่ไม่ปกติ การประท้วงอาจเกิดขึ้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ และมีสัญญาณว่ารัฐจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หลังโควิด พรรคต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่
TEDxBangkok: เมื่อเกิดกรณีที่รัฐต้องเยียวยาหรือช่วยเหลือ การช่วยเหลือองค์กรหรือกลุ่มนายทุนใหญ่ ๆ มักได้รับการช่วยเหลือรวดเร็ว ในขณะที่ การช่วยเหลือประชาชนคนทั่วไปมักล่าช้า อาจารย์คิดเห็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
อ.ประจักษ์: สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจกับการเมืองบิดเบี้ยว เพราะระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่าไรหรือประชาธิปไตยถูกบิดเบือนนั้น จะทำให้เสียงของคนจนและคนทั่วไปไม่ถูกรับฟังและให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ ผู้นำภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ จะมีอำนาจอยู่ได้หรือไม่นั้น ไม่ได้วัดที่ประชาชนอย่างเดียว แต่มีกลไกอย่างอื่นค้ำยันให้เขามีอำนาจอยู่ได้
ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาให้มี สว. 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ประชาชนไม่ได้เลือกมาเลย สว. 250 คนนี้มีอำนาจเลือกนายกได้ด้วยเท่ากับ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต่อให้ผู้นำรัฐบาลหรือหัวหน้านักการเมืองนั้น จะไม่ชนะในการเลือกตั้ง ก็ยังเป็นนายกต่อไปได้ด้วยเสียงสนับสนุนจาก สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น การทำหน้าที่ของนายกจะดีหรือไม่ดี ล้มเหลวหรือไม่ ผู้คนพอใจกับการทำงานของเขาหรือไม่ ไม่ได้ตัดสินชะตาชีวิตของเขาเสมอไป ต่อให้เขาทำงานไม่ดี ล้มเหลว เอาใจแต่คนรวย เขาก็ยังได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจต่อไปได้ด้วยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ
ด้วยโครงสร้างแบบนี้ จึงตอบคำถามว่าทำไมถึงต้องเอาใจชนชั้นนายทุนก่อน เพราะนายทุนก็เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้พรรคของผู้นำมีอำนาจอยู่ได้ กำหนดการตัดสินใจได้ หากกลุ่มนายทุนถอนการสนับสนุนแล้ว ฐานเสียงหรือพรรคการเมืองที่สร้างมาก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป อำนาจก็จะหมดไป
แต่ตราบใดที่เราไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สภาพปัญหาก็จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะในสังคมที่โครงสร้างเศรษฐกิจไม่ยุติธรรมและเหลื่อมล้ำมาก ต่อให้แรงงานคนนึงขยันมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างค่าตอบแทนยังเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่มีวันยกระดับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นไปได้มากกว่านี้
TEDxBangkok: จากที่กล่าวมาทั้งหมด ปัญหาหลายอย่างเกิดจากโครงสร้าง ทั้งนี้ อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นว่าเราอาจมองที่ตัวบุคคลมากกว่าโครงสร้างอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำที่หลายคนเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะพูดเรื่องนี้ ทำไมเราถึงควรพูดเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ตอนนี้ และจะสื่อสารอย่างไรดีให้เหมาะสมกับสถานการณ์
อ.ประจักษ์: ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งสื่อ นักการศึกษา นักวิชาการ ผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะ เพราะหากเราติดกับดักมองว่าเป็นแค่เรื่องปัจเจก เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาหลายอย่างที่เป็นปัญหายาก ๆ ใหญ่ ๆ ได้ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่เราถูกกล่อมเกลาให้มองปัญหาทุกอย่างเป็นเรื่องปัจเจกหมด ก็เลยแก้ไม่ได้
อย่างการฆ่าตัวตายหรือซึมเศร้า ก็ถูกมองเป็นเรื่องปัจเจก ทำไมถึงแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ความจนก็เป็นเรื่องปัจเจก ถูกมองว่าเพราะคุณไม่ขยัน ปัญหาการศึกษาเด็กสอบได้คะแนนไม่ดี ก็เป็นเรื่องไม่ขวนขวาย ขี้เกียจ ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องปัจเจกของคนคนหนึ่งที่ไม่รับผิดชอบตัวเอง พอเรามองแบบนี้ ก็มองทางแก้ผิดไปหมด ทางแก้อยู่ที่ไหน ก็กลับมองว่าให้ทุกคนเป็นคนดีมากขึ้น รับผิดชอบกับตัวเองมากขึ้น มีวินัยกับตัวเองมากขึ้น แต่ตราบใดที่เราไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สภาพปัญหาก็จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะในสังคมที่โครงสร้างเศรษฐกิจไม่ยุติธรรมและเหลื่อมล้ำมาก ต่อให้แรงงานคนนึงขยันมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ด้วยโครงสร้างค่าตอบแทนยังเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่มีวันยกระดับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นไปได้มากกว่านี้ เราจึงต้องพยายามคุยกัน และวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างให้มากกว่านี้ สื่อก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย
เวลารายงานข่าวอย่าไปจบแค่เห็นคนกระโดดน้ำตาย เพราะเขาเครียดเลยฆ่าตัวตาย แต่ต้องถามต่อไปว่าทำไมเขาถึงเครียด ความเครียดมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับสภาพแวดล้อมทางสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ เราต้องถามคำถามต่อ เพื่อกลับไปยังโครงสร้าง ทุกคำถามทุกปัญหากลับไปในเชิงโครงสร้างได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความจนและความเหลื่อมล้ำ
การที่หลายคนบอกว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ควบคุมโรคให้ได้ก่อนนั้น จะยิ่งทำให้แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ เพราะตอนนี้มีงานวิจัยระดับโลกบอกว่าความเหลื่อมล้ำคือโรคร้ายที่สุด เป็นโรคที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนมีโควิดแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมาย เพราะยิ่งมีโควิดก็ยิ่งทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดขึ้นว่าประเทศไหนมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอย่างไร ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวโรคหรือเชื้อโรค แต่ปัญหาจะงอกเงยออกมาเต็มไปหมด ภาพที่คนต้องไปรับบริจาคอาหาร ภาพที่คนต้องไปต่อแถวเบียดเสียดแย่งชิงของรับบริจาค ภาพที่คนต้องไปนั่งกับพื้นกรอกขอเงินเยียวยา หรือแม้แต่การขโมยอาหารจากตู้ปันสุข ก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Parasite มีประโยคหนึ่งที่สะท้อนใจ เป็นตอนที่ครอบครัวคนจนเข้าไปอยู่ในบ้านคนรวยแล้วคุยกันว่า ถ้าเรารวยเมื่อไหร่ เราก็เป็นคนที่ Nice ได้ ทำให้เห็นว่าความจนทำให้คนเราต้องปากกัดตีนถีบ มีชีวิตที่ต้องดิ้นรน ต้องเอาตัวรอด เพราะความจนบีบบังคับให้คนไม่สามารถ Nice ได้
ในครั้งนี้ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงและมีปัญหาความยากจนอยู่แล้ว จะยิ่งรับมือกับโควิดได้ยาก ปัญหาจะหนักหน่วงรุนแรงเป็นพิเศษ ดังนั้น เราจะไม่พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรในเมื่อความเหลื่อมล้ำเป็นใจกลางของปัญหาทั้งหมด การหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นการเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม ไม่พูดถึงสาเหตุของโรคร้ายที่ทำให้เกิดปัญหาปะทุออกมา
เมื่อเรามาอยู่รวมกันเป็นสังคมเดียวกันแล้ว ย่อมต้องมีกฎ ระเบียบ และโครงสร้างทางสังคม ช่วยจัดแจงให้ทุกคนอยู่ภายในสังคมได้อย่างเรียบร้อยและเป็นปกติสุข โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์เช่นนี้
นอกเหนือจากการฝ่าวิกฤตหลักอย่างตัวโรคโควิดไปให้ได้แล้ว ต้องไม่มองข้ามผลกระทบอื่นที่ตามมาด้วย โดยเฉพาะผลกระทบจากกฎระเบียบและโครงสร้างสังคมนั้น เพื่อที่เราจะได้แก้ไขและก้าวข้ามปัญหาทุกอย่างไปได้จริง ๆ
และนี่ก็คืออีกหนึ่งเรื่องราวชวนคิดที่ TEDxBangkok อยากส่งต่อเป็นไอเดียให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันมากกว่าเดิม