เรื่อง : วรรณวีณา ตั้งเสถียรภาพ
ภาพ : นภัสวันต์ ชลิตตานนท์/กัญญณัช บุญสิทธิผล
ณ มุมหนึ่ง บนถนนพลุกพล่านย่านเยาวราช เสียงน้ำที่ค่อยๆ ไหลรินกระทบถ้วยและพิธีกรรมการชงชาตรงหน้า ช่วยดึงความสนใจพวกเราจากความจ้อกแจ้กจอแจภายนอกไปจนหมด ภายใต้บรรยากาศที่สะท้อนกลิ่นอายความเป็นเอกลักษณ์แบบจีนที่แทรกอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย จึงเป็นสถานที่อันเหมาะสมที่เราจะเชิญ อาเจ็ก – สมชัย กวางทองพาณิชย์ อดีตสปีคเกอร์บนเวที TEDxBangkok ปี 2016 ที่ได้สร้างความประทับใจให้กับใครหลายคนมาแล้วจากทอล์กเรื่องประวัติศาสตร์ละแวกบ้าน มาร่วมพูดคุยกัน
TEDxBangkok: หลังจากจบทอล์กบนเวที TedxBangkok ไปแล้ว ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม
อาเจ็ก: ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น ก่อนหน้านี้คนอาจจะมองว่าเราบ้า เพราะเราทำเรื่องเก่าๆ อยู่กับรูปถ่ายเก่าๆ หลังจบทอล์กไป ก็มีคนฟังเรามากขึ้น สนใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น แต่มันก็ยังคงมีกลุ่มที่มองว่าบ้าอยู่ดี (หัวเราะ)
TEDxBangkok: สิ่งนี้เป็นอุปสรรคไหม
อาเจ็ก: เจ็กผ่านจุดนั้นมานานแล้ว ทะลุผ่านจุดที่คนรอบข้างมองว่าเราบ้า
TEDxBangkok: อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ก้าวผ่านตรงนั้นมาได้
อาเจ็ก: อย่างแรก คือ ความชอบที่มันต้องเกินขีด เราต้องมี passion มากกว่าสิ่งที่เสียดสีเราตรงนั้น และอย่างที่สอง คือ ผลของมันในระหว่างเส้นทางที่เราเดิน คนว่าเราบ้าก็เยอะ คนว่าเราดีก็ไม่น้อย เราก็ผ่านมันมาได้ จริงๆ แล้วก็ไม่ว่าคัญว่าใครจะว่าอย่างไร สิ่งสำคัญคือ เราสนุกกับมัน นั่นคือประเด็นของเรามากกว่า
TEDxBangkok: นอกจากความสนุกมีปัจจัยอย่างอื่นอีกไหมที่ผลักดันให้ทำสิ่งทำอยู่ตอนนี้
อาเจ็ก: การถอดรหัสต่างๆ ที่ทำ มันเหมือนเป็นการตามหาสิ่งที่เราอยากรู้มากกว่า สิ่งที่เราตั้งคำถามว่ามันคืออะไร สิ่งที่เราไม่เคยรู้ ในตอนแรกปัญหาจริงๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้มาทำแบบนี้ ก็คือ เราไม่รู้ถึงอดีตว่ามันเป็นมายังไง วัฒนธรรมมันมีเหตุผลอย่างไร พอเราค้นเจอหนึ่ง เจอสอง เจอสาม มันก็เจอต่อไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันสนุก มันก็ไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรค หรือทำแล้วลดความเข้มข้นลง ในทางตรงกันข้าม มันเหมือนกับคุณยิ่งเจอ ยิ่งมีอะไรที่ไม่รู้อีกเยอะพอค้นเจอใหม่ก็เจอสิ่งใหม่ต่อไปเรื่อยๆ มันเป็น challenge อย่างหนึ่ง
หนึ่งคำถามให้คำตอบมากมาย ในขณะที่หนึ่งคำตอบก็ให้คำถามมาอีกมากมายเช่นกัน สุดท้ายแล้ว เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ให้คำตอบ แต่เราสร้างคำถามให้คนคิดต่อไป
TEDxBangkok: แล้วการค้นหาเรื่องราวแบบนี้มันสำคัญอย่างไร
อาเจ็ก: มันเป็นความสนุก คุณอย่าไปคิดว่ามันต้องสำคัญ คุณชอบตามหาอะไรที่มันสำคัญ แต่ทุกอย่างมันก็สำคัญของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าคุณค้นหาไปแล้วจะเจอถ้วยรางวัลหรือขุมสมบัติที่จุดปลายทาง สิ่งที่คุณเจอมันเป็นสมบัติแบบอื่น คนละแบบกัน เราอาจจะพูดแบบภาษาสมัยใหม่ก็ได้ ว่าเราได้ค้นพบตัวตนของเรา แต่บางทีมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น บางทีมันก็แค่น่าสนุกที่ค้นหาก็เท่านั้น
TEDxBangkok: แต่ทุกวันนี้ การที่เราจะทำอะไรแต่ละอย่างเหมือนต้องคิดด้วยไหมว่าทำสิ่งต่างๆเพื่ออะไร
อาเจ็ก: การที่คุณมัวแต่คิดว่า คุณต้องทำอะไรเพื่ออะไร เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง เพราะพอคิดว่าจะไม่ได้สิ่งนั้นก็เลยไม่ทำไง สุดท้ายก็เลยไม่ได้ทำอะไรสักที บางทีมันไม่ใช่แบบนั้น เราอาจจะทำเพราะแค่อยากทำก็ได้ ทำเพราะมันสนุก มันเหมือนพอเราค้นเจอคำตอบหนึ่ง มันก็มีคำถามใหม่ในคำตอบอันนั้น เหมือนที่เจ็กเคยบอกเสมอว่า หนึ่งคำถามให้คำตอบมากมาย ในขณะที่หนึ่งคำตอบก็ให้คำถามมาอีกมากมายเช่นกัน สุดท้ายแล้ว เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ให้คำตอบ แต่เราสร้างคำถามให้คนคิดต่อไป
TEDxBangkok: ในระหว่างที่ค้นหา มีเรื่องราวอันไหนไหมที่อาเจ็กทำแล้วสนุกมากเป็นพิเศษ
อาเจ็ก: อันที่จริงมีหลายเรื่องมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออาทิตย์ก่อน เจออักษรภาษาจีนสี่ตัว คำว่า ตี่เล้งนั้งเกี๊ยก (地灵人杰) แปลว่า ดินมีความสมบูรณ์ คนมีความสามารถ ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่า คำๆนี้จะปรากฎในศาลเจ้าแต้จิ๋ว เป็นคำของคนจีนแต้จิ๋ว พอเราค้นต่อไป ก็พบว่าคำๆ นี้ไม่ได้เป็นของคนแต้จิ๋ว เราก็ต้องไปค้นรากมันใหม่ ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรเป็นยังไง ก็เจอว่า คำๆ นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยราลชวงศ์ถัง และถูกเขียนขึ้นที่เมืองหนันชาง แล้วมันไม่ได้มีแค่สี่ตัว มันมีตัวอักษรอื่นอีกหลายตัว พอรู้แบบนี้แล้ว เราก็ต้องบอกคนอื่นๆ ให้ทราบว่าหลักฐานใหม่บ่งชี้ข้อมูลว่าอย่างไร จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่เกิดจากการค้นพบอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดเสมอว่าสิ่งที่เราค้นพบเราไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นเอง และมันไม่ได้เป็นของเรา มันไม่มีอะไรเป็นของคุณทั้งนั้นเพราะไม่มีอะไรที่คุณคิดขึ้นมาเองสักอย่าง
การคิดจึงเริ่มจากการมองออกไปนอกกรอบ ทำให้สิ่งที่พบเจอ มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ หรือสิ่งที่คนสอนให้คุณคิดตาม เราต้องรู้จักตั้งคำถาม
TEDxBangkok: แล้วสิ่งที่เราค้นหามา เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่
อาเจ็ก: เราก็ต้องเทียบเคียงไปเรื่อยๆ มันใช่ ณ วันนี้ วันพรุ่งนี้อาจไม่ใช่ ถึงแม้เราจะถามคำถามเดียวกันกับเมื่อวาน ทีนี้ รู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณค้นมันถูก อันที่จริง เราไม่ได้บอกว่ามันถูกตลอดกาลนะ มันถูก ณ เวลานี้ เท่าที่หลักฐานวันนี้มันมี และก่อนที่จะบอกว่า อันนี้ถูก มันก็ได้บอกอันที่ผิดกว่านี้มาแล้ว แล้วพอเราค้นพบว่าข้อมูลที่มีมันผิด สิ่งที่เราต้องทำอย่างแรก คือ ประกาศว่าข้อมูลนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร เพื่อไม่ให้ใครเอาไปอ้างอิง จากนั้นมีเหตุผลหลักฐานอะไรใหม่ก็มาปรับแก้ เสริมเข้าไป
แต่ถ้าคุณยังไม่เชื่อ ก็เป็นหน้าที่คุณต้องไปค้นหาหลักฐานมาคุยกัน เหมือนที่เจ็กบอกในทอล์กของ TEDxBangkok ว่า คุณสามารถเริ่มต้นด้วยการว่าคิดว่าอะไรมาจากไหน หากคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่ ต้องคิดต่อว่ามันไม่ใช่เพราะอะไร มันไม่มีใครให้คำตอบเราต่อได้ ในลักษณะเดียวกัน สมมุติว่าคุณมองกลับมาเรื่องเทศกาลหรือประวัติศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ็กคือ เจ็กมีความข้องใจในคำตอบสำเร็จรูปที่คนอื่นตีเส้นให้ เพราะเจ็กไม่ใช่นักวิชาการ การคิดจึงเริ่มจากการมองออกไปนอกกรอบ ทำให้สิ่งที่พบเจอ มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหนังสือ หรือสิ่งที่คนสอนให้คุณคิดตาม เราต้องรู้จักตั้งคำถาม ทั้งนี้เพราะว่า ประเพณีต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเป็นแบบนี้ แล้วต้องเป็นแบบนี้ไปตลอด ถ้าคุณศึกษาไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่ามันปรับเปลี่ยนไปตามสภาพความเหมาะสมของสังคม
TEDxBangkok: ตอนนี้งานส่วนใหญ่ของเจ็กก็ยังอยู่ในเรื่องประวัติศาสตร์พื้นถิ่น และรากเหง้าวัฒนธรรมจีน หรือมันไปไกลกว่านั้น
อาเจ็ก: มันก็เหมือนการจัดงานของ TEDxBangkok ตอนนี้ผ่านมาสามปี หากจัดงานในรูปแบบเดิมมันไม่ตื่นเต้นแล้ว ดังนั้นคุณต้องตามหาสิ่งที่จะ challenge คุณต่อไป ถ้าไม่มีอะไรมากดดันคุณ คุณอาจจะไม่สนุกแล้ว ดังนั้น เราต้องคิดโจทย์ใหม่ คิดคำถามลึกลงไปอีก อย่างที่เจ็กทำคือต้องคิดกระบวนการใหม่ ว่าเราจะเล่าเรื่องราวอย่างไร อย่างวันนี้บางเรื่องถ้ารู้สึกว่ามัน out ก็ต้องคิดวิธีใหม่ การนำเสนอมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ต้องมองไปในอนาคตข้างหน้า ตัวอย่างเช่น งานที่ทำกับมหาวิทยาลัย เจ็กได้ตั้งหัวข้อแล้วให้นักศึกษาไปลงพื้นที่แล้วหาคำตอบมา โดยทำเป็นคลิป 10 นาทีมานำเสนอ แน่นอนว่าในคลิปแรกๆ มันยังไม่ดีมาก แต่เมื่อผ่านไปสัก 20 คลิป มันจะมีการค่อยๆ คัดสรรตัวมันเอง และเกิดการปรับแก้ คุณจะเห็นพัฒนาการของข้อมูลว่ามันเป็นอย่างไร ความสนใจของคนอยู่ตรงไหน จากงานตรงนี้ เจ็กก็ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ sense of place คนเรามีสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน แทนที่จะมานั่งทำแบบสอบถาม เจ็กก็แนะนำให้แนะนำนักศึกษาไปค้นว่าอะไรเป็นปัจจัยของ sense of place แทน
TEDxBangkok: อยากให้ช่วยขยายความคำว่า sense of place
อาเจ็ก: สมมุติว่าให้คุณหลับตาแล้วถามว่า ให้คุณมาเยาวราช คุณจะมาที่ไหน (นั่งนึกกันสักพัก) ถ้าเป็นเจ็ก เจ็กจะมาที่ปากซอยแถวนี้ เพราะว่าเด็กๆ แถวนี้มีร้านการ์ตูน มีโรงหนังเย็นๆ มีร้านขนม มีของกิน ดังนั้นมันเป็นสวรรค์ของเจ็ก ดังนั้น sense of place จะตกอยู่ที่นี่ แต่ถ้าคุณไปถามอาม่า อาม่าอาจจะตอบว่า sense of place อยู่ที่โรงงิ้วฝั่งโน้น เพราะอาม่ามีความผูกพันกับการแสดงงิ้ว ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า sense of place ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อันเกิดจากความสนใจที่ไม่เหมือนกัน หากเรารู้จักตั้งคำถามตัวเองว่า เราเป็นใคร เราจะไม่งง
TEDxBangkok: อาเจ็กเน้นเรื่องการตั้งคำถามและการฝึกคิด ถ้าเราจะฝึกคิด ควรเริ่มแบบไหน
อาเจ็ก: เริ่มจากสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราสนใจ เราจะสนใจและมีคำถามผุดขึ้นมา ต้องหาตัวเองให้เจอ
TEDxBangkok: แล้วถ้าเปลี่ยนความคิดนั้น เป็นการลงมือทำ อาเจ็กมีคำแนะนำอย่างไร
อาเจ็ก: สิ่งที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่เราพูดหรือทำดูน่าเชื่อถือ คิดให้สุดแล้วทำ ดูสิ่งแวดล้อม รู้จักเปรียบเทียบ ใช้เครื่องมือประกอบ เจ็กอยากเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดว่าลงมือทำมันไม่ยาก แค่มองรอบข้างดีๆ สังเกตดีๆ แต่ทั้งนี้ การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างไม่ได้แปลว่าทำแล้วจะสำเร็จ หรือรวย แต่ถ้าคุณรู้จักคิดแล้วหาคำตอบ มันจะเป็นรากฐานกระบวนการทางความคิดใหม่ที่จะพาเราไปให้ถึงขีดสุดที่ควรจะไป
การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างไม่ได้แปลว่าทำแล้วจะสำเร็จ หรือรวย แต่ถ้าคุณรู้จักคิดแล้วหาคำตอบ มันจะเป็นรากฐานกระบวนการทางความคิดใหม่ที่จะพาเราไปให้ถึงขีดสุดที่ควรจะไป